นายกฯ ประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 รับฟัง ร่วมประมวล ทุกความเห็นจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ข่าวทั่วไป Thursday February 15, 2024 13:20 —สำนักโฆษก

เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชน

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 16.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีปละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 1/2567 โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ จากการประชุม ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นหนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและวางรากฐานทางเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศในอนาคต โดยที่การดำเนินโครงการฯ นี้ ให้สำเร็จและลุล่วง รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณ รวม 500,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลจะดำเนินการโครงการฯ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยจะปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย มีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม รวมทั้งรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด

โดยในส่วนของการประชุม ที่ประชุมไม่ต้องการให้เกิดข้อห่วงกังวลเรื่องความโปร่งใส ในการดำเนินโครงการ คณะกรรมการไม่ต้องการให้มีข้อครหา ในการดำเนินนโยบายนี้ จึงได้มีมติมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายฯ(กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์)เป็นอนุกรรมการร่วมหารือกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางในการรวบรวมข้อเท็จจริงเพื่อคอบข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งยังได้มอบหมายให้กระทรวง DES และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ศึกษาและดำเนินการตามข้อหารือ และข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแนวทางการขยายขอบเขตการพัฒนาระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้เพื่อป้องการการทุจริต และยังได้แต่งตั้งอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำอันเข้าข่ายการผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ

ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานฯ ได้รับฟังข้อคิดเห็นของทุกหน่วยงานที่ร่วมการประชุมอย่างทั่วถึง และหลากหลาย โดยทุกส่วนได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างเป็นประโยชน์ ถึงขอบเขตปัญหาทางเศรษฐกิจของประชาชน ข้อห่วงกังวล และการออกแบบมาตรการนี้ ซึ่งที่ประชุมจักได้นำไปพิจารณา ประมวลความคิดเห็นที่เป็นข้อสรุปเพื่อนำมาหารือกันอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในช่วงท้ายว่า ตลอดเวลาของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน เห็นแววตา ความลำบากของประชาชน และต้องการให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ต้องการให้โครงการนี้เกิดการทุจริต จึงตั้งใจที่จะควบคุม เพื่อให้เป็นมาตรการที่เหมาะสม เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ และประชาชน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ