ก.เกษตรฯเตรียมฟื้นฟูพท.เกษตร,หามาตรการช่วยชาวนาปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 3, 2010 10:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังบินตรวจน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำในพื้นที่ จ.อ่างทอง สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยาและสุพรรณบุรี พบว่าหลายพื้นที่ในจ.สุพรรณบุรี อาทิ อำเภอสามชุก อำเภอบางปลาม้า และอำเภออู่ทอง น้ำยังอยู่ในปริมาณมากและเริ่มทรงตัว โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องหากไม่มีฝนตกเพิ่มคาดว่าจะเริ่มคลี่คลายปลายเดือนพฤศจิกายน กรมชลประทานได้พยามที่จะเร่งบริหารจัดการระบายน้ำ ซึ่งยอมรับว่าการระบายน้ำออกจากเจ้าพระยานั้นมีความยากลำบากเพราะแต่ละเขื่อนนั้นระดับน้ำยังเกินความจุที่จะรองรับได้ ทั้งในส่วนของอ่างเก็บน้ำกระเสียว เขื่อนพระรามหก และเขื่อนป่าสักฯ

อย่างไรก็ดี การมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และรองรับน้ำจากหลายลุ่มน้ำในฤดูน้ำหลาก ซึ่งในปีนี้นับว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถช่วยบรรเทาภาวะน้ำท่วมในลุ่มน้ำป่าสักที่จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างมาก ซึ่งได้ช่วยรับน้ำในพื้นที่ จ.ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง และอยุธยา โดยขณะนี้สามารถรองรับน้ำได้ขณะนี้ถึง 960 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีเขื่อนป่าสักฯ สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่อาจรุนแรงมากกว่านี้

"ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคตนั้น เนื่องจากในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอธุยามีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ หากมีการสร้างพนังกันน้ำและระบบป้องกันน้ำกันในทุกชุมชนอย่างแข็งแรงน้ำก็จะระบายได้ยากลำบากขึ้น ในบางพื้นที่อาจต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมหนัก จึงต้องหามาตรการที่จะช่วยชาวนาให้ปลูกข้าวให้ได้ปีละ 2 ครั้ง ซึ่งในช่วงเวลาที่น้ำหลากนั้นอาจต้องเช่าพื้นที่นาของเกษตรกรเป็นพื้นที่รับน้ำ และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งจะต้องศึกษาถึงความเป็นไปได้และมีการสำรวจพื้นที่อีกครั้ง" นายธีระ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย ปี 2553 ดังนี้ ด้านพืช ช่วยเหลือร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิตรวม แยกเป็น ข้าว ไร่ละ 2,098 บาท พืชไร่ ไร่ละ 2,921 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 4,908 บาท ด้านประมงและด้านปศุสัตว์ ช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 ส่วนที่เกินจากช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยฯ ช่วยเหลือครึ่งหนึ่งของความเสียหายจากเกณฑ์ปกติ โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2553 จนถึงสิ้นสุดฤดูฝนปี 2553

สำหรับมาตรการด้านหนี้สิน การพักชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร กรณีสมาชิกเสียชีวิตจากอุทกภัย ให้จำหน่ายออกจากบัญชีของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นสูญ โดยรัฐบาลจะรับภาระหนี้แทน กรณีสมาชิกประสบภัยร้ายแรงแต่ไม่เสียชีวิต หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบอุทกภัย ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553-2555 งดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ตามอัตราที่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเรียกเก็บจากสมาชิก โดยจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้น มีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ได้รับความเสียหาย 52 จังหวัด สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 271 แห่ง สมาชิก จำนวน 49,304 ราย ต้นทุนเงินกู้ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ 3,246.148 ล้านบาท ประมาณการที่จะขอชดเชยปีละ 306.594 ล้านบาท จำนวน 3 ปี เป็นเงิน 919.782 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ