กรมชลฯเผยประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ช่วยลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่ง

ข่าวทั่วไป Monday November 15, 2010 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลิต ดำรงศักดิ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริ ในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ บริเวณคุ้งน้ำช่วงที่ไหลผ่านเขตพื้นที่บางกระเจ้า จากเดิมที่มีสภาพตื้นเขินมีความกว้างเพียง 12 เมตร ให้สามารถรับปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้น

อีกทั้ง ยังเป็นทางลัดของน้ำลงสู่ทะเลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วย ช่วยร่นระยะทางการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาจาก 18 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 600 เมตร หรือร่นระยะเวลาการเดินทางของน้ำจาก 5 ชั่วโมง เหลือเพียง 10 นาที สามารถระบายน้ำได้ในอัตราสูงสุด 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะอาศัยจังหวะในช่วงที่น้ำทะเลลงทำการระบายน้ำและจะปิดการระบายในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่วนในช่วงฤดูแล้ง จะลดบานประตูลง เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ในช่วงที่เกิดน้ำเหนือไหลหลากและน้ำทะเลหนุนสูงของทุกปี รวมถึงเหตุการณ์น้ำทะเลหนุนสูงและน้ำเหนือไหลหลากในช่วงเดือนตุลาคม — พฤศจิกายนของปีนี้ด้วย ที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วยลดผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยได้เฉลี่ยวันละประมาณ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร และผลการดำเนินการระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 สามารถระบายน้ำได้รวมประมาณ 2,470 ล้านลูกบาศก์เมตร นับว่าเป็นปริมาณน้ำที่มากพอสมควรที่ได้ระบายลงสู่อ่าวไทย

นอกจากจากนี้ ยังมีศักยภาพในด้านการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำ ซึ่งกรมชลประทานได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาและวิจัย โดยการประดิษฐ์กังหันไฟฟ้าพลังน้ำไหลต้นแบบขึ้นมา 2 แบบ คือ แบบหมุนตามแนวแกน (Axial Flow) และแบบหมุนขวางการไหล (Cross Flow) โดยใช้ใบพัดต้นแบบที่วิเคราะห์และผลิตขึ้นแบบหมุนตามแนวแกนมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร และใบพัดแบบหมุนขวางการไหลมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร ยาว 2.50 เมตร ที่ความเร็วน้ำออกแบบ 2 เมตรต่อวินาที จะทำให้ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5 กิโลวัตต์ โดยได้ดำเนินการประกอบและติดตั้งกังหันทั้ง 2 แบบกับโครงเหล็กที่ปรับขึ้นลงได้บริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เพื่อทำการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าผลปรากฏว่า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุดถึง 5.74 กิโลวัตต์ สูงกว่าที่ได้วิเคราะห์และคำนวณออกแบบไว้

อนึ่ง ความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ กรมชลประทาน ได้นำไปขยายผลเพื่อพัฒนาและผลิตกังหันพลังน้ำติดตั้งในประตูระบายน้ำต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้แก่คนไทย อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนและประหยัดพลังงานอื่นๆให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาลด้วย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ในระหว่างดำเนินการขอจดสิทธิบัตรเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ในพระปรมาภิไธย คาดว่าจะสามารถประกาศได้ในเร็ววันนี้ และจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ