ศชอ.เตือนยโสธรเตรียมอพยพคน สัตว์เลี้ยง และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ข่าวทั่วไป Saturday November 20, 2010 16:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิทเยนทร์ มุตตามุระ รองผู้อำนวยการ ศชอ. เป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์พื้นที่จังหวัดน้ำท่วมและน้ำท่วมขังยาวนาน รวมถึงติดตามประสานงานหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือเยียวยา และติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่จ.ยโสธร อ.เมืองฯ อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง และ อ.คำเขื่อนแก้ว

พื้นที่ที่ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย รวม 16 จังหวัด 67 อำเภอ 528 ตำบล 4,069 หมู่บ้าน และประชาชนได้รับผลกระทบ 270,249 ครัวเรือน 1,104,370 คน (พื้นที่ภาคใต้ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย คือ สงขลา สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง) จำนวนผู้เสียชีวิต 233 ราย (ภาคใต้ 77 ราย)

สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูล อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ (ล้นตลิ่ง 1.57 ม. ลดลง 0.09 ม.) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ (ล้นตลิ่ง 1.40 ม. ลดลง 0.11 ม.) น้ำเคลื่อนเข้า อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี 2,186 ลบ.ม./วินาที ยอดน้ำสูงสุดเคลื่อนผ่านไปแล้ว ทำให้น้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่ง 0.32 ม. ลดลง 0.03 ม.

ลุ่มน้ำชี อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น (ลดลงต่ำกว่าตลิ่ง 0.24 ม.) อ.โกสุมพิสัย (ล้นตลิ่ง 0.35 ม. ลดลง 0.03 ม.) อ.เมือง

จ.มหาสารคาม (ล้นตลิ่ง 0.09 ม. ลดลง 0.06 ม.) อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด (ล้นตลิ่ง 1.18 ม. ลดลง 0.03 ม.) ยอดน้ำเคลื่อนเข้า อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด คาดว่าน้ำจะล้นตลิ่งและเกิดน้ำท่วมขัง ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่ อ.เมืองฯ อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง และ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร โดยขอให้เตรียมอพยพคน สัตว์เลี้ยง และขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สถานการณ์น้ำเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ ที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,324 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจาก 1, 400 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณ 1,047 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน +16.90 เมตร และสถานีบางไทร มีน้ำไหลผ่าน 1,896 ลบ.ม.ต่อวินาที

ภาคใต้ ลุ่มน้ำตาปี แม่น้ำตาปี ที่บ้านเคียนซา อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี (ล้นตลิ่ง 0.38 ม. ลดลง 0.02 ม.) และบริเวณที่มีน้ำท่วมขังยังคงใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อลดระดับน้ำให้ลดลงเร็วขึ้น สำหรับพื้นที่ซึ่งเคยเตือนภัยและยังคงให้เฝ้าระวังต่อเนื่องซึ่งดินอุ้มน้ำอิ่มตัวอยู่หากมีฝนตกลงมาอีก ในปริมาณมากอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มตามมา ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี เฝ้าระวังแม่น้ำตาปีล้นตลิ่ง และดินถล่ม ที่ จ.นครศรีธรรมราช ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลับ และน้ำป่าไหลหลาก ที่ จ.พัทลุง ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน

พยากรณ์อากาศ ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้เริ่มจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ให้ระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยยังคงมีกำลังปานกลางทำให้ภาคใต้มีฝนกระจาย และมีฝนตกหนักบางแห่งในระยะนี้

การดำเนินการของศูนย์

  • จากการที่แม่น้ำชีจะไหลเข้า จ.ยโสธร อ.เมืองฯ อ.มหาชนะชัย อ.ค้อวัง และ อ.คำเขื่อนแก้ว จึงให้ ปภ.จังหวัดยโสธร เตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้คาดการณ์สถานการณ์และระยะเวลาของน้ำท่วมขังที่จะเกิดขึ้น ตลอดจนสำรวจจำนวนครัวเรือนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จำนวนของครัวเรือนที่เตรียมพร้อมในการอพยพ และให้เตรียมอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้พร้อมให้สาธารณสุขเฝ้าระวังโรคระบาดจากน้ำท่วมขัง ดูแลสุขอนามัย อาหาร น้ำดื่ม แหล่งขยะ และตลาด
  • ขอให้ทุกฝ่ายรายงานเรื่องการช่วยเหลือฟื้นฟู โดยแบ่งกลุ่มจังหวัด เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) ที่ยังเฝ้าระวังสถานการณ์ 2.) ที่น้ำยังท่วมขัง มาตรการการช่วยเหลือ 3.) ที่น้ำลดแล้วรอการฟื้นฟู 4.) ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูเพื่อให้ชีวิตเป็นปกติ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ