ก.เกษตรฯเผยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัดแล้ว

ข่าวทั่วไป Friday March 11, 2011 10:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีจังหวัดที่ขอรับการบริการฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องโดยขณะนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำปาง จังหวัดสระบุรี จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดระนอง และจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ให้ความช่วยเหลือโดยตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงระหว่างวันที่ 25 ก.พ. — 3 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมาว่า สำนักฝนหลวงและการบินเกษตรได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 7 หน่วย ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน โดยเน้นการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้ จากการปฏิบัติการฝนหลวงของทั้ง 7 หน่วยปฏิบัติการสามารถสรุปผลดำเนินการได้ดังนี้

1. การปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินกองบิน 41 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา ซึ่งจากการได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 2 วันที่สภาพอากาศเหมาะสม พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึง ปานกลาง บริเวณอำเภอสะเมิง อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

2. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงได้จำนวน 2 วัน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางถึง หนัก บริเวณอำเภอตากฟ้า อำเภอชุมแสง อำเภอลาดยาว อำเภอพยุหะคีรี ปริมาณน้ำฝนวัดได้สูงสุด 6.2 มิลลิเมตร อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เป้าหมายวัดได้สูงสุด 14.0 มิลลิเมตร อ. เมือง จ.นครสวรรค์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 และมีปริมาณฝนตกสูงสุดในพื้นที่ภาคกลางวัดได้ 100.5 มิลลิเมตร เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554 3. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินกองบิน 21 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง เนื่องจากอยู่ในระหว่างเดินทางและติดตั้งอุปกรณ์ และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อไป 4. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินอู่ตะเภา ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 วัน ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลฝนตกมีจำนวน 3 วัน พบว่า มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณอำเภอบ้านบึง อำเภอเมือง อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะจันทร์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี อำเภอท่าตะเกียบ และ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง และปริมาณน้ำฝนวัดได้สูงสุด 7.5 มิลลิเมตร ที่ อ.เมือง จ.ระยอง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 5.หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินท่าใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยองและหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดจันทบุรี ปฏิบัติการฝนหลวงร่วมกันเพื่อช่วยเหลือพื้นที่สวนผลไม้ และพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าไม้บริเวณภาคตะวันออก ซึ่งจากการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 วัน พบว่า ยังไม่มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย 6. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่สนามบินกองบิน 5 ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นมา ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 วัน จากการตรวจสอบข้อมูลฝนตก พบว่า มีฝนตกเล็กน้อย — ปานกลาง บริเวณอำเภอปราณบุรี อำเภอกุยบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่การตรวจสอบพบว่า ยังไม่มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย และ 7. หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการที่ท่าอากาศยานหัวหิน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งจากการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 1 วัน พบว่า ยังไม่มีฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ