(เพิ่มเติม) กรมอุตุฯ คาดยังมีอาฟเตอร์ช็อคอีกหลายสัปดาห์หลังเหตุแผ่นดินไหวในพม่า

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 09:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ให้สัมภาษณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ซึ่งมีศูนย์กลางในประเทศพม่าซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคืนนี้อาจจะทำให้เกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาอีกหลายสัปดาห์ หลังจากเมื่อคืนนี้สั่นไหวต่อเนื่องราว 100 ครั้ง

ทั้งนี้เว็บไซด์ของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่าเมื่อวานนี้ ที่ละติจูด 20.59 องศาเหนือ ลองจิจูด 99.84 องศาตะวันออก ความลึกจากพื้นดินประมาณ 10 กิโลเมตร ขนาด 6.7 ริกเตอร์ โดยอยู่ห่างจากทางทิศเหนือ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 30 กิโลเมตร เมื่อเวลาประมาณ 20.55 น. เบื้องต้นมีความเสียหายในหลายจังหวัดของภาคเหนือ และรู้สึกสั่นไหวในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ตามมาเมื่อเวลา 21.23 น. ขนาด 4.9 ริกเตอร์ ความลึกจากพื้นดินประมาณ 10 กิโลเมตร ส่วนครั้งที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อ 22.54 น. ขนาด 5.3 ริกเตอร์ ความลึกจากพื้นดินประมาณ 40 กิโลเมตร และนับตั้งแต่เวลา 02.15 น.ของวันนี้(25 มี.ค.) เกิดอาฟเตอร์ช็อคจำนวน 40 ครั้ง ขนาดตั้งแต่ 3.0-6.2 ริกเตอร์

รายงานข่าวจากชาวบ้านใน อ.แม่สาย แจ้งว่า ช่วงเช้านี้ยังคงมีอาฟเตอร์ช็อคเกิดขึ้นอีก ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ต้องคอยเฝ้าระวังจนไม่ได้หลับไม่ได้นอนมาตลอดทั้งคืน และทุกครั้งที่เกิดอาฟเตอร์ช็อคก็จะพากันวิ่งออกจากบ้านเรือนมาอยู่ในที่โล่งแจ้ง โดยอาฟเตอร์ช็อคครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 07.22 น.ขนาด 4.9 ริกเตอร์ ลึกจากพื้นดินประมาณ 40 กิโลเมตร

สำหรับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้โบราณสถานในพื้นที่ภาคเหนือได้รับความเสียหายหลายแห่ง และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นหญิงวัย 55 ปีใน จ.เชียงราย ถูกผนังบ้านล้มทับ

ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กล่าวว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนที่มีพลังในประเทศพม่า ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง แต่ปกติมักอยู่ในระดับ 2-3 ริกเตอร์เท่านั้น แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรง

ด้านนายวีระชัย ไชยสระแก้ว ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ซึ่งดูแลความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน กฟผ.ทั่วประเทศ กล่าวว่า หลังจากตรวจสอบข้อมูลจากเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่ติดตั้งไว้ทุกเขื่อนแล้วพบว่า ไม่มีผลกระทบต่อตัวเขื่อน เนื่องจากอยู่ไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว จึงขอให้ประชาชนสบายใจว่าทุกเขื่อนของ กฟผ.ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ