(เพิ่มเติม) กทม.เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหวอย่างมีสติ

ข่าวทั่วไป Friday March 25, 2011 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธศักดิ์ ร่มฉัตรทอง ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดเผยว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกำชับและมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมรับมือแผ่นดินไหวตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ

รวมถึงขอความร่วมมือประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง ให้มีการเตรียมตัวที่ดีในการรับมือภัยแผ่นดินไหว เพื่อช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยจัดให้มีการซักซ้อม ทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมของสมาชิกในครอบครัวและหน่วยงาน กำหนดวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว กำหนดจุดนัดพบที่ปลอดภัยนอกบ้าน สอนสมาชิกให้รู้จักวิธีตัดไฟ ปิดวาล์วน้ำและถังแก๊ส มีการตรวจสภาพความปลอดภัยของใช้ในบ้าน ยึดอุปกรณ์กับฝาบ้านหรือเสาให้แน่น เตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ ไฟฉาย นกหวีด กระเป๋ายาประจำบ้าน น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูป ไว้ในจุดที่สามารถหยิบได้ง่าย อย่าวางสิ่งของที่แตกหักง่าย เช่น เครื่องแก้ว สิ่งของหนักไว้บนที่สูง

อย่าไงกร็ตาม ขณะเกิดเหตุ ให้ตั้งสติ ปิดสวิตซ์ไฟหลัก ปิดถังแก๊ส หมอบกับพื้น อยู่ห่างจากสิ่งของที่อาจหล่นใส่ ล้มทับ หรือหลบใต้โต๊ะ หากอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากอาคาร ป้ายโฆษณา เสาไฟ ต้นไม้ใหญ่ ส่วนผู้ที่อยู่ในตึกสูงที่เป็นอาคารเก่าและไม่มั่นคงให้หาทางออกจากอาคารโดยเร็ว อย่างมีสติ ไม่เบียดเสียด ยื้อแย่งจนชุลมุน และห้ามใช้ลิฟท์เด็ดขาด เมื่อติดอยู่ในซากอาคารให้ส่งสัญญาณการช่วยชีวิต อาทิ ใช้นกหวีด เคาะท่อ ฝาผนัง เนื่องจากการตะโกนอาจสูดสารพิษ หรือสิ่งอันตรายเข้าสู่ร่างกาย และทำให้เกิดความอ่อนล้าได้

ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กล่าวถึงการเกิดแผ่นดินไหวล่าสุดว่า ถือว่ารุนแรงที่สุดในประเทศไทย เพราะมีผู้เสียชีวิต 1 คน

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหว 303 ครั้งและมีจุดศูนย์กลางที่ประเทศไทย 117 ครั้ง แม้จะเคยมีผู้เสียชิวต 1 รายที่ อ.พาน จ.เชียงราย แต่ไม่ได้เกิดจากแผ่นดินไหว แต่มาจากความตื่นเต้น วิ่งหนีทำให้ล้มจนเสียชิวต แต่ครั้งนี้มาจากการเกิดแผ่นดินไหวโดยตรงคือกำแพงพังถล่มลงมาทับ

สำหรับสาเหตุที่กรุงเทพ สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นไหวจากแผ่นดินไหวที่พม่านั้น เนื่องจากชั้นดินของกรุงเทพฯอ่อน ขณะที่ประชาชนใน จ.พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ แม้จะอยู่ใกล้กับพม่า และเชียงราย แต่รับรู้แรงสั่นสะเทือนน้อยกว่าคนในกรุงเทพฯ เพราะชั้นดินแข็งแรงกว่า

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวความรุนแรง 7.0 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตอนใต้ของประเทศพม่า ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 30 กิโลเมตร เมื่อคืนวันที่ 24 มีนาคม 2554 และเกิดอาฟเตอร์ช๊อก ขนาด 3.0 — 6.2 ริกเตอร์ตามมากว่า 40 ครั้ง ส่งผลให้เกิดความเสียหายใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา และน่าน

          จังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหายใน 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอ แม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอดอยหลวง อำเภอเชียงของ อำเภอแม่ฟ้าหลวง อำเภอแม่จัน และอำเภอพาน  มีผู้เสียชีวิตจากการถูกกำแพงบ้านล้มทับ 1 ราย รวมถึงโบราณสถานได้รับความเสียหาย 4 แห่ง ได้แก่ พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุ              เจดีย์หลวง พระวิหารวัดปู่ข้าว และวิหารวัดแม่เลียบ

จังหวัดพะเยา ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ โดยโบราณสถานได้รับความเสียหาย 2 แห่ง ได้แก่ องค์พระเจ้าตนหลวง วัดศรีโคมคำ และพระธาตุในวัดพระธาตุหลวง

ส่วนจังหวัดน่าน วิหารวัดภูมินทร์วรวิหาร วัดช้างค้ำวรวิหาร และวัดเขาน้อยมีรอยร้าวเล็กน้อย

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ อาคารสำนักงานของเทศบาลตำบลสันทรายหลวง อำเภอสันทรายได้รับความเสียหายเล็กน้อย

ทั้งนี้ ปภ. ได้ตรวจสอบข้อมูลผลกระทบจากแผ่นดินไหวกับเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลพบว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่งไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ