สธ.เตือนสภาพอากาศร้อนระวัง 4 โรค"ลมแดด-เพลียแดด-ตะคริวแดด-ผิวหนังไหม้"

ข่าวทั่วไป Sunday May 8, 2011 11:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมช.สาธารณสุข เตือนประชาชนระวังภัยที่มาพร้อมกับสภาพอากาศร้อน ได้แก่ โรคลมแดด โรคเพลียแดด โรคตะคริวแดด และโรคผิวหนังไหม้แดด โดยคนที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กทารกและเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนอ้วน คนที่ออกกำลังกายใช้แรงเกินพิกัด คนเป็นโรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำ 6-8 แก้วหรือ 2 ลิตรต่อวัน งดดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมเสื้อผ้าที่สีอ่อน น้ำหนักเบาสบาย หากออกนอกบ้านควรสวมแว่นกันแดด สวมหมวกปีกกว้าง

"ขณะนี้สภาพอากาศโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น นับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2522-2546 พบมีการเสียชีวิตจากความร้อนในประเทศสหรัฐอเมริกากว่า 8,000 ราย แม้จะพบไม่บ่อยในเมืองไทยแต่ก็ไม่ควรประมาท เพราะโรคที่เกิดจากความร้อนเป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้" นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รมช.สาธารณสุข กล่าว

โดยมีโรคที่จะมาในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ โรคลมแดด(Heat Stroke) โรคเพลียแดด(Heat Exhaustion) โรคตะคริวแดด(Heat Cramps) และผิวหนังไหม้แดด(Sunburn) ที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตคือโรคลมแดด ในปี 2551 ไทยพบผู้ป่วยโรคลมแดด 80 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในปี 2552 มีรายงานประชาชนในสิทธิรักษาฟรี 48 ล้านคนป่วยจากโรคนี้เข้ารักษาในโรงพยาบาล 32 ราย

รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากความร้อนทั้ง 4 โรค ได้แก่ เด็กทารก และเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนอ้วนมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมหรือใช้แรงอย่างหนัก และผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ ควรจะดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้วหรือวันละ 2 ลิตรได้ยิ่งดี เนื่องจากคนที่ดื่มน้ำไม่เพียงพอ จะไม่สามารถปรับตัวให้สู้กับความร้อนได้ เพราะน้ำเป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งปกติทั่วไป ร่างกายจะพยายามปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส ประการสำคัญในการแต่งกาย ขอให้สวมเสื้อผ้าที่หลวม ๆ เบาสบาย มีสีอ่อน หากออกนอกบ้าน ควรกางร่มหรือสวมหมวกปีกกว้าง ใส่แว่นกันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป ก่อนออกแดด 30 นาที และทาซ้ำตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์

ขณะที่ นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเด็นที่น่าห่วงคือเรื่องการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน ประชาชนบางกลุ่มนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เย็นๆ เพื่อคลายร้อนในช่วงกลางวัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ จะทำให้หลอดเลือดใต้ผิวหนังขยายตัว ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จะทำให้สูญเสียน้ำทางเหงื่อและปัสสาวะได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายขาดน้ำ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น อาจช็อคหมดสติได้เช่นกัน

"กรณีที่เป็นผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง กลางแดดร้อน ขอให้ดื่มน้ำเย็น 2-4 แก้วทุกชั่วโมง หากเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในช่วงที่อากาศร้อนจัดมากขอให้ประชาชนควรอยู่ในอาคาร หากไม่อยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่ควรใช้พัดลมเป่า เพราะไม่สามารถช่วยลดอุณหภูมิร่างกายได้ วิธีที่ดีที่สุดคือให้อาบน้ำ หรือใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวซึ่งจะช่วยลดความร้อนของร่างกายได้ดี" นพ.มานิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ