เกษตรฯมั่นใจผลผลิตไทยปลอดเชื้ออีโคไล-เฝ้าระวังสินค้านำเข้าจากอียู

ข่าวทั่วไป Wednesday June 8, 2011 15:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังไม่มีการพบเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ในระบบการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งพืชและปศุสัตว์ แต่อย่างใด

สำหรับมาตรการควบคุมและสร้างเความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรไทยปลอดเชื้อดังกล่าว กรมวิชาการเกษตรได้มีการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยในกลุ่มสินค้าพืชได้กำหนดมาตรการควบคุมระบบการจัดการการผลิตสินค้าเกษตรทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศ และเพื่อการส่งออกให้ปลอดจากเชื้อจุลินทรีย์ โดยอาศัยพื้นฐานการผลิตที่ดีตั้งแต่ขั้นตอนกระบวนการผลิตในแปลงผลิตตามมาตรฐาน (GAP) ทั้งยังครอบคลุมไปถึงระบบการผลิตในโรงคัดบรรจุตามมาตรฐาน หรือ GMP และ HACCP มาประยุกต์ใช้ในโรงงานคัดบรรจุสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป เพื่อพัฒนาระบบการผลิตให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ในส่วนมาตรการของ มกอช. ซึ่งมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดผ่านความร่วมมือในเรื่องการแจ้งเตือนความปลอดภัยด้านอาหารกับสหภาพยุโรป โดยจะมีการแจ้งสถานการณ์ปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารให้กับ มกอช. อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารกับอาเซียน(ARASFF)กรณีที่มีประเทศอาเซียนใดๆ พบปัญหาเชื้อตัวนี้ในอาหารนำเข้าจากสหภาพยุโรปหรือจากแหล่งอื่นๆ ก็จะแจ้งให้สมาชิกประเทศอื่นทราบ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถติดตามและเตรียมการรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และ มกอช. ได้ประสานงานกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการในไทยเพื่อแจ้งข้อมูล หากมีปัญหาการตรวจพบเชื้ออีโคไลตัวนี้ด้วย

"การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวข้างต้น จะช่วยรับประกันได้ว่าสินค้าพืชผัก และสินค้าเกษตรที่ผลิตในประเทศไทยจะปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคได้"นายเฉลิมพร กล่าว

สำหรับสินค้าในกลุ่มปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์กำหนดมาตรการการควบคุมและป้องกันการติดเชื้ออีโคไลในการนำเข้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ผ่านทางด่านกักกันสัตว์ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ด่านสุวรรณภูมิ ด่านกรุงเทพทางน้ำ และด่านชลบุรี ซึ่งจากการตรวจสอบสินค้าที่นำเข้าจากทวีปยุโรปที่กำลังมีปัญหาการระบาดของเชื้ออีโคไลอยู่ในขณะนี้ที่มีการอนุญาตให้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์เพียง 2 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1. ตับเป็ดจากประเทศฝรั่งเศส และฮังการี และ 2. ตับสุกรและมันแข็ง สำหรับผลิตไส้กรอก จากประเทศเบลเยี่ยม เดนมาร์ค และเยอรมันนี เท่านั้น และยังไม่พบรายงานการตรวจพบเชื้ออีโคไล

อนึ่ง วันนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการพบเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ทั้งสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ และสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ