สธ.เผยแนวโน้มโรคจากวิถีชีวิตรุนแรง ยูเอ็นเล็งหยิบยกถกในที่ประชุม ก.ย.นี้

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2011 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เผยเวทีการประชุมองค์การสหประชาชาติ(UN) ที่มีผู้นำกว่า 190 ประเทศทั่วโลกกลางเดือน ก.ย.ปีนี้ เตรียมถกแนวทางการแก้ปัญหาโรคจากวิถีชีวิตหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เนื่องจากมีแนวโน้มขยายตัวเป็นปัญหารุนแรงระดับโลก ขณะที่ไทยเตรียมแก้ปัญหาตามแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย และโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพ โดยจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันโรคทุกจังหวัด

"ขณะนี้โรคไม่ติดต่อหรือโรคจากพฤติกรรมวิถีชีวิตกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศทั่วโลกนำหน้าโรคติดต่อที่มีเชื้อโรคเป็นตัวการและจะทวีความรุนแรงมากในกลุ่มประเทศที่มีฐานะยากจน" นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวง สธ.กล่าว

โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี 2548 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคจากวิถีชีวิตมากถึง 35ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด 58 ล้านคน หากไม่การแก้ไขคาดว่าในปี 2558 จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 หรือประมาณ 41 ล้านคน

"องค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญและกำหนดประชุมผู้นำประเทศกว่า 190 ประเทศทั่วโลกในการประชุมสหประชาชาติกลางเดือนกันยายนนี้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นับเป็นประเด็นสุขภาพเรื่องที่สาม ถัดจากโรคเอดส์และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ถูกนำเสนอในเวทีสหประชาชาติ" นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ที่ผ่านมาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังถูกมองว่าเป็นปัญหาของประเทศที่เจริญแล้ว เป็นโรคของคนรวย ซึ่งความจริงแล้วโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจะเป็นปัญหาหนักในประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาขาดความพร้อมในการดูแลรักษาและการป้องกันโรคแทรกซ้อนที่จะตามมา ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคเหล่านี้สูงมาก ในประเทศไทยแต่ละปีเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อ 5 โรคได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองและมะเร็ง ราวปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่สำคัญโรคเหล่านี้ยังมีผลทำให้เกิดผู้ป่วยอัมพาตหรือพิการเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงต้องเร่งหามาตรการป้องกันควบคุมที่เหมาะสม

ปลัด สธ.กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้นำยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทย เป็นแนวทางหลักในการควบคุมและป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยได้จัดทำโครงการสนองน้ำพระราชหฤทัยในหลวงทรงห่วงใยสุขภาพประชาชนฯ เป็นโครงการต่อเนื่อง 3ปี ระหว่างปี 52-54 เป้าหมายหลักคือการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในกลุ่มเสี่ยงคือผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งมีประมาณ 45 ล้านคน

ขณะนี้สามารถคัดกรองโรคเบาหวานได้เกือบ 21 ล้านคน พบผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติร้อยละ 15 หรือ 3.1 ล้านคน โดยแยกเป็นกลุ่มเสี่ยงจะป่วย 1,710,521 คน เป็นผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ 353,189 คน และป่วยรายเก่ามาอยู่แล้ว 1,070,737 คน ในจำนวนนี้มีโรคแทรกซ้อนด้วยร้อยละ 10 มากที่สุดคือตาต้อกระจก รองลงมาคือแผลที่เท้าและไตวาย

ส่วนโรคความดันโลหิตสูงตรวจคัดกรองไปแล้ว 21 ล้านกว่าคน เป็นกลุ่มที่มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติและเสี่ยงจะป่วย 2.4 ล้านคน เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 651,867 คน และป่วยรายเก่า 1.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ตรวจพบโรคแทรกซ้อนร้อยละ 6 อันดับ 1 คือโรคหัวใจ รองลงมาคือเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก และไตวาย

อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยการทำงานร่วมหลายหน่วยงาน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในระดับบุคคล กระทรวงฯ จึงมีนโยบายตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาทุกจังหวัด โดยมีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขาคณะกรรมการ ดำเนินการเรื่องฐานข้อมูล ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินงาน รวมทั้งกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานเป็นรูปธรรม และชุดคณะกรรมการแก้ไขระดับจังหวัดและอำเภอ โดยให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานทุกๆเดือน มั่นใจว่าจะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาได้ผล เพราะไทยมีโครงสร้างการสาธารณสุขที่ดี โดยมีสถานบริการสาธารณสุข ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งมีอาสาสมัครสาธารณสุขกำลังสำคัญทำงานกับเจ้าหน้าที่ในชุมชน โดยโครงการนี้ใช้เป็นแนวทางควบคุมป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ