ศอส.เตือน24จังหวัดเตรียมรับมืออิทธิพลจากพายุไห่ถาง, ยอดเสียชีวิต166ราย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 27, 2011 12:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) เปิดเผยว่า ในวันนี้พายุไห่ถางได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ ประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้ว ประกอบกับภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุไห่ถาง อาจส่งผลให้สถานการณ์อุทกภัยขยายวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดระนอง (อำเภอสุขสำราญ เมือง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์) และพังงา (อำเภอคุระบุรี กะปง ตะกั่วป่า) มีฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 200 มม. และเริ่มมีน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่แล้ว จึงขอให้จังหวัดในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมพร้อมรับมือ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันที รวมถึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากภาวะฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า ไหลหลาก และดินโคลนถล่ม

ทั้งนี้ ศอส. ได้กำชับให้จังหวัดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำประสานและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ทั้งทิศทางการไหลของน้ำ ปริมาณน้ำแก่จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับมือผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลเข้ามายังพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ให้หน่วยงานประสานการบูรณาการทรัพยากรและกำลังคนร่วมกัน เพื่อให้สามารถจัดการแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 23 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ ยโสธร ขอนแก่น อำนาจเจริญ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี รวม 149 อำเภอ 1,130 ตำบล 8,680 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 615,497 ครัวเรือน 2,014,166 คน ผู้เสียชีวิต 166 ราย สูญหาย 3 ราย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 6,157,916 ไร่ พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บ่อปลา 90,242 ไร่ สัตว์ได้รับผลกระทบ 6,937,065 ตัว น้ำท่วมเส้นทางไม่สามารถสัญจรผ่านได้ รวม 112 สาย แยกเป็น ทางหลวง 30 สาย ใน 9 จังหวัด ทางหลวงชนบท 82 สาย ใน 17 จังหวัด

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่างๆ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากและระดับน้ำล้นตลิ่ง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 4,272 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,685 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 3,047ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ 9 จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำ ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรีได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำล้นตลิ่งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ