(เพิ่มเติม) ผู้ว่าฯนครสวรรค์เผยน้ำทะลักท่วม 1ใน3 ของแนวกั้นน้ำ เร่งอพยพปชช.ผู้ป่วย

ข่าวทั่วไป Monday October 10, 2011 14:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัยโรจน์ มีแดง ผู้ว่าราชการ จ.นครสวรรค์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภายหลังพนังกั้นแม่น้ำปิงที่นครสวรรค์แตก ว่า ขณะนี้ได้ประสานงานกองทัพภาคที่ 3 เร่งอพยพประชาชน 6 พื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงออกจากพื้นที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เหตุพนังกั้นน้ำแตกกระทบพื้นที่ 1 ใน 3 ของพื้นที่ ส่วนอีก 2 ใน 3 ยังสามารถรับมืออยู่ยกระดับเสริมแนวกำแพงขึ้นอีกจาก 4 เมตรเป็น 8 เมตร

"ที่เป็นปัญหาเพราะทำไม่ทัน แนวมันยาว น้ำมาเร็วและแรง"ผู้ว่าฯ จ.สวรรค์ กล่าวผ่านสถานีโทรทัศน์

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยงคือบริเวณหน้าโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำสูง 10 ซม. แต่ยังไม่ทะลักเข้าท่วมโรงพยาบาล

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย นิลวัชรารัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทางโรงพยาบาลเร่งอพยพลำเลียงผู้ป่วยที่มีประมาณ 650 คนออกมายังพื้นที่ปลอดภัย

ล่าสุด ได้รับความช่วยเหลือจากทหารส่งรถ GMC และเรือจากมูลนิธิตันปันมาช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่แล้ว 130 คน ไปไว้ที่โรงพยาบาลค่ายจิรประวัติ บางส่วนก็รักษาเสร็จแล้วให้กลับบ้าน

ทำให้ขณะนี้ยังเหลือผู้ป่วยอีก 490 คน คาดว่าจะเร่งเคลื่อนย้ายโดยเร็ว ส่วนผู้ป่วยเด็กก็จะส่งไปที่โรงพยาบาลแม่และเด็ก ส่วนที่สามารถรักษาได้ก็จะรักษาจนหายแล้วส่งตัวกลับบ้าน

"เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีผู้ป่วยมาก เกรงโรงพยาบาลอื่นจะรับไม่ไหว ที่รักษาได้ก็จะรักษาจนหายแล้วส่งตัวกลับบ้านไป"ผอ.โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ กล่าว

ส่วนสถานการณ์น้ำล่าสุด อีกประมาณ 50 ซม.น้ำก็จะเข้าท่วมพื้นที่ชั้น 1 ของโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งโรงพยาบาลต้องปกป้องสาธารณูปโภคที่จำเป็นเช่น เครื่องปั่นไฟ อุปกรณ์เครื่องช่วยชีวิต

ด้านนายวิม รุ่งวัฒนจินดา โฆษกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) กล่าวว่า ได้มีการสั่งเคลื่อนย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เขตเทศบาลที่เกิดพนังกั้นน้ำแตกไปยังบริเวณที่จัดเตรียมเอาไว้รองรับ 5 จุด คือ สนามกีฬากลาง โรงเรียนเทคโนโลยีภาคเหนือ วิทยาลัยอาชีวะนครสวรรค์ โรงเรียนนครสวรรค์ และ วัดคีรีวงษ์ ซึ่งทึกพื้นที่จะสามารถรองรับประชาชนได้ 1 หมื่นคน

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นๆ อย่างไร ต้องรอประเมินสถานการณ์น้ำก่อน เนื่องจากจังหวัดนครสวรรค์ถือเป็นปลายทางรับน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนจะไหลรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วจะมีปริมาณน้ำมากน้อยแค่ไหน

ส่วนการเคลื่อนย้ายประชาชนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ก็อาจจะมีประชาชนบางส่วนที่ไม่ต้เองการย้ายออกจากพื้นที่เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินและบ้านเรือน เพราะบ้านที่อยู่ในเขตเทศบาลส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจมากกว่าบ้านพักอาศัยเพียงอย่างเดียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ