
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้กำหนดให้เดือนพ.ค. ของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ (Mind Month) โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม "เดือนแห่งสุขภาพใจ-Mind Month" โดยจากการประเมินผ่านระบบ Mental Health Check in ตั้งแต่ 1 ม.ค. 63 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทย มีภาวะเสี่ยงซึมเศร้า ความเครียดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลเห็นถึงความสำคัญ จึงต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชน จึงประกาศให้เดือนพ.ค. เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพทางใจเป็นปัญหาสำคัญที่ถูกมองข้าม เพราะแม้มีร่างกายที่สมบูรณ์ แต่หากสุขภาพใจไม่แข็งแรง การทำเรื่องต่าง ๆ ให้สำเร็จย่อมเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะการเปิดใจรับฟัง โดยไม่รีบตัดสิน เป็นสิ่งสำคัญ และถือเป็นการเสริมความเข้าใจและสร้างความเข็มแข็งทางใจให้กับผู้มีความเสี่ยง
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า รู้สึกดีใจที่มีการส่งเสริมภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจทางอารมณ์ให้กับเด็ก และเป็นเกราะป้องกันสร้างความเข้มแข็งให้เด็กต่อไปในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องการเห็น และให้ความสำคัญในเรื่องนี้ พร้อมขอใช้โอกาสนี้ แสดงพลังและความตั้งใจร่วมกันในการสร้างสังคมที่เห็นความสำคัญของสุขภาพใจอย่างแท้จริง เนื่องจาก "จะไม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์ได้ หากปราศจากสุขภาพจิตที่ดี"
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการสร้างความตระหนักให้กับประชาชนว่า สุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จึงได้กำหนดให้สุขภาพจิตเป็นวาระสำคัญระดับชาติ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะเดินหน้าเสริมสร้างระบบดูแลสุขภาพจิตที่เข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับชุมชน โรงเรียน สถานที่ทำงาน ไปจนถึงระบบสาธารณสุข โดยเน้นทั้งการส่งเสริม ป้องกัน ดูแลรักษา และฟื้นฟู ซึ่งจะเห็นได้จาก 6 นโยบายสำคัญด้านสุขภาพจิตที่จะเริ่มต้นในเดือนพ.ค. และในปีนี้จะครอบคลุมคนไทยในทุกช่วงวัยมากกว่า 13.5 ล้านคน โดยเฉพาะนโยบายสำคัญอย่างการจัดตั้ง "ศูนย์ให้การปรึกษาสุขภาพจิต (Mental health counseling center)" จำนวน 37 แห่ง ภายในเดือนพ.ค. และขยายเป็น 340 แห่งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคน ได้รับการปรึกษาและดูแล ก่อนที่จะเจ็บป่วยทางใจ
นอกจากนี้ จะมีการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ อีกกว่า 50 กิจกรรม ที่จะเริ่มต้นในเดือนแห่งสุขภาพใจนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการทำให้คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า กระตุ้นสังคมไทยให้หันมาใส่ใจพูดคุยเรื่องสุขภาพจิตอย่างเปิดเผย และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะ "สุขภาพจิตดี" ไม่ใช่เพียงหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่คือภารกิจของทุกคน ในฐานะสมาชิกของครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของจิตใจที่เข้มแข็ง คือ "ครอบครัว" ครอบครัวที่เปิดใจรับฟัง ให้พื้นที่ปลอดภัยทางอารมณ์ สนับสนุนกันและกันในวันที่อ่อนล้า คือรากฐานสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมคนไทยให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และมีภูมิคุ้มกันทางใจที่แข็งแรง
พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นการใส่ใจคนรอบข้าง รับฟังอย่างเข้าใจ หรือแม้แต่การเริ่มดูแลใจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และขอให้เดือนแห่งสุขภาพใจนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไทยที่ "เข้าใจ เห็นคุณค่า และพร้อมเดินไปด้วยกันอย่างมีความสุข

