
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2025 ตามเวลาสหรัฐอเมริกา ทรัมป์ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ในวันแรกของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ทรัมป์ได้ออก Executive Order ในวันดังกล่าวมีใจความในส่วนของ "Policy" ว่า "To Put The Interests of The United States And The American People First"
และในส่วนของ "Implementation" ว่า จะถอนตัวออกจาก Paris Agreement ภายใต้ United Nations Framework Convention on Climate Change ทันที และให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลักด้วยการขุดเจาะหาก๊าซธรรมชาติ LNG และน้ำมันเบนซินเพิ่ม
จากท่าทีของประธานาธิบดีทรัมป์ข้างต้นทำให้เราตั้งคำถามได้ว่า พลังงานสะอาดจะยังเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ? การใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนยังสำคัญพอที่จะมีตลาดหรือไม่ ? และการซื้อขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยอาศัยใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนซึ่งมีการซื้อขายและโอนแยกกับหน่วยไฟฟ้าได้ยังมีตลาดหรือไม่ ?
Renewable Energy Certificate (REC) คือ "ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน" เป็นสิ่งรับรองว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม หรือชีวมวล ปริมาณ 1 เมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์ (MW) ที่ได้จ่ายไฟฟ้าสะอาดหน่วยนั้นเข้าระบบโครงข่าย ย่อมมีสิทธิได้รับ REC 1 ใบ ผู้ผลิตไฟฟ้านั้นสามารถขายไฟฟ้า 1 หน่วยดังกล่าวพร้อมโอน REC ใบนี้ให้กับผู้ซื้อที่ตั้งอยู่ห่างออกไปเพื่อให้ผู้ซื้อสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าตนได้ "จ่ายเพื่อให้มีไฟฟ้าสะอาดและมีการใช้ไฟฟ้าสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตาม Scope II"
ผู้ผลิตไฟฟ้าไม่ควรมีสิทธิออก REC เอง แต่จะต้องมีบุคคลที่ "ไว้ใจได้" เป็นผู้ออก REC กระบวนการนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ว่าไฟฟ้าที่ใช้มีที่มาจากแหล่งพลังงานสะอาดจริง ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนต้องนำสถานที่ผลิตไฟฟ้าไปขึ้นทะเบียนให้มีสถานะเป็น "Production Facility" จากนั้นจึงรายงานต่อหน่วยงานที่มีอำนาจออกใบรับรอง (ในประเทศไทยคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.) โดยระบุช่วงเวลาการผลิต ระยะเวลาการเริ่มต้นและสิ้นสุดการผลิต รวมถึงปริมาณไฟฟ้าที่จ่ายเข้าระบบ "จริง" ในช่วงเวลานั้น ใบรับรอง REC ที่ได้รับจะถูกเก็บไว้ในบัญชีเพื่อการค้า (Trade Account) ซึ่งสามารถใช้โอนหรือรับโอน REC ต่อไปได้
ระบบการซื้อขาย REC ในประเทศไทยนั้นมีลักษณะเฉพาะที่เชื่อมโยงกับระบบระหว่างประเทศและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยปัจจุบันใช้มาตรฐาน International Renewable Energy Certificate (I-REC) I-REC Standard อธิบายว่า บุคคลที่จะออก REC จะต้องลงทะเบียนในระบบ REC ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องส่วนของผู้ขายหรือเรียกว่า "REC Registrant ในขณะเดียวกันบุคคลที่ประสงค์จะซื้อ REC นั้นก็อาจลงทะเบียนเป็นผู้เกี่ยวข้องส่วนของผู้ซื้อหรือเรียกว่า "Participant"
กลไกสำคัญของการออก REC คือ ผู้รับรอง หรือ ผู้ออก REC หรือ "Issuer" ตาม I-REC Standard ผู้ที่จะออก REC อาจเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ องค์กรอื่นใด ที่มีความเป็นอิสระในการดำเนินกระบวนการออก REC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่ง Issuer ของประเทศไทย คือ กฟผ. มีหน้าที่ควบคุมระบบการลงทะเบียนของฝ่ายผู้ขาย เช่น โรงไฟฟ้าที่ประสงค์จะออก REC ดำเนินการตรวจสอบและยืนยันความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าของผู้ขายออก REC ตามข้อมูลที่ได้รับ
ทั้งนี้ ผู้รับรอง REC นั้นจะต้องทำสัญญากับ I-REC Organization ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบทะเบียนการซื้อขาย และการซื้อขาย REC จะต้องเกิดโดยผ่านบัญชีการซื้อขาย (Trade Account) เพียงครั้งเดียว ข้อสำคัญคือการป้องกันมิให้ใบ REC ที่ออกมานั้นถูกใช้ซ้ำ (REC Double Counting) จะต้องอยู่ในบัญชีใดบัญชีหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เจ้าของบัญชีฝ่ายผู้ขายมีอิสระที่ขาย REC แก่ผู้ซื้อคนใดก็ได้ เราอาจกล่าวได้ว่าในมิตินี้หลักเสรีภาพในการทำสัญญา (Freedom of Contract) ได้เข้ามีบทบาทในการสร้างกรอบแห่งนิติสัมพันธ์ในทางสัญญาเพื่อช่วยให้ระบบ REC ทำงานได้ และเมื่อ REC ถูกใช้แล้วจะถูกย้ายเข้าไปในบัญชีการไถ่ถอน (Redemption Account) ผู้ซื้อและผู้ขายอาจมีบัญชีไถ่ถอนหลายบัญชีได้ เมื่อพูดว่า "ขายให้ใครก็ได้" ก็ย่อมมีประเด็นตามมาว่าจะขายผ่าน "ตลาด" ใด
Chung Seok Han และคณะ ได้เผยแพร่บทความชื่อ "A New Blockchain Investment And Energy Certificate Platform" ในวารสาร Cogent Engineering ใน ค.ศ. 2023 อธิบายว่า REC Trading Platform นั้นเป็น "Marketplace" ที่ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายนั้นทำธุรกรรมการซื้อขาย โอน ส่งมอบ และรับการส่งมอบ REC ในมิติของ "ศักยภาพของระบบ" นั้น REC Trading Platform จะต้องเป็นระบบที่มีความโปร่งใสและสามารถติดตามตรวจสอบถึงความเป็นเจ้าของและการโอน REC
ในประเทศไทยมี ตัวอย่างแพลตฟอร์มของประเทศไทย Green Pass คือแพลตฟอร์มที่รองรับให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์สามารถขอและขาย REC ผ่านแพลตฟอร์มได้ การขาย REC นี้จะช่วยให้ผู้ขายมีรายได้เพิ่มนอกเหนือจากการขายไฟคืนให้กับการไฟฟ้าซึ่งเป็นเจ้าของระบบโครงข่าย ผู้มีสิทธิลงทะเบียน Green Pass ต้องมีคุณสมบัติคือจะต้องเป็นผู้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแล้วโดยจะมีใช้ Invertor และเป็นสถานที่ผลิตไฟฟ้าอยู่ในเขตพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ระบบผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องมีกำลังติดตั้งไม่เกิน 250 Kw
กฟผ. เผยแพร่ข้อมูลว่ามีผู้ร่วมโครงการจากพลังงานหมุนเวียนทุกประเภททั้งหมด 405 โครงการ รวม 5,552.12 MW ส่วนข้อมูลจาก DataM Intelligence ระบุว่า มูลค่าตลาด REC ของประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2024 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 11.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐและคาดว่าจะเติบโตแตะระดับ 25.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 9.7% ส่วนของตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มจาก 27.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2025 เป็น 45.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 10.2%
ในตลาดโลก ราคาของ REC มีความหลากหลายและผันผวน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น แหล่งพลังงานที่ใช้ผลิต ความต้องการในตลาด และนโยบายของแต่ละประเทศ โดยราคาของ REC ในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ราคาของ REC ในตลาดสมัครใจ (Voluntary Market) มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2016 ราคาลดลงเหลือน้อยกว่า 0.35 ดอลลาร์สหรัฐฯ/MWh จาก 1.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010
หรืออย่างในยุโรป ราคาของ Guarantee of Origin (GO) ซึ่งเป็นใบรับรองพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในยุโรป มีความผันผวนสูง โดยในปี 2024 ราคาลดลงจาก 7-10 ยูโร/MWh ในปีก่อนหน้า เหลือต่ำกว่า 1 ยูโร/MWh สำหรับสัญญาที่จะครบกำหนดในปีถัดไป
เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น Microsoft, Google, Meta (Facebook) ต่างประกาศเข้าร่วมโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ในบริบทนี้ REC จึงทำหน้าที่เป็นหลักฐานยืนยันสำหรับองค์กรที่ต้องการอยู่ในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกเพราะลูกค้าหลายรายในต่างประเทศเริ่มตั้งข้อกำหนดด้านพลังงานหมุนเวียนกับซัพพลายเออร์ การไม่มี REC อาจทำให้สูญเสียโอกาสเข้าถึงตลาดใหม่หรือลูกค้าในระดับสากลในขณะที่องค์กรที่มี REC พร้อมอยู่ในเกมการค้าอย่างยั่งยืนในอนาคต
แม้ว่าในปัจจุบันราคาของ REC จะลดลงในช่วงที่ผ่านมา แต่ REC ยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะ "ใบยืนยัน" การใช้พลังงานสะอาดขององค์กรโดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภค นักลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน การมี REC ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือว่าองค์กรไม่ได้เป็นเพียงผู้บริโภคไฟฟ้าแต่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโลกสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง
การที่ กฟผ. ออก REC ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้า โดย REC นั้นจะถูกเก็บไว้ในบัญชี แสดงให้เห็นว่า REC ที่ กฟผ. รับรองให้นั้นเป็นสิ่งที่ "ถือเอาได้" REC เหล่านี้มีราคาเป็นของตัวเองและสามารถถูกโอนแยกกับตัวไฟฟ้าที่เป็นฐานในการออก REC ได้ (Separate Commodity) ดังนั้นแล้ว REC จึงมีสถานะความเป็นทรัพย์สินของใบรับรอง REC ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 ซึ่งบัญญัติว่า ทรัพย์สินหมายความว่า "ทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้"
เมื่อ REC มีราคาและถือเอาได้แล้ว REC จึงมีสถานะเป็นทรัพย์สินในระบบกฎหมายไทย อีกทั้งการซื้อขายนั้นสามารถทำโดยผ่าน Trading Platform ซึ่งไม่ต้องผ่าน Tokenization และก็จำเป็นว่าต้องซื้อขายและโอนกันผ่าน Platform ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain แล้วก็อาจมองได้ว่าไม่ต้องมี Tokenized REC และการซื้อขายผ่าน Blockchain-Enabled Platform ก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม Chung Seok Han และคณะ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า "ระบบ REC Trading Platform ทั่วไปนั้นมักจะมีลักษณะเป็นระบบรวมศูนย์ (Centralized) เป็นระบบที่ตกอยู่ในความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ ขาดความโปร่งใส และมักมีข้อจำกัดที่ไม่อาจรองรับการซื้อขาย REC ในจำนวนมาก ๆ ได้ ดังนั้น แล้วการมี Tokenized REC และการซื้อขายผ่าน Blockchain-Enabled Platform อาจเป็นทางเลือกในการพัฒนาระบบการซื้อขาย REC
นอกจากนี้ Naielly Lopes Marques และคณะ ยังได้ตีพิมพ์บทความชื่อ "A Blockchain-Based Model for Token Renewable Energy Certificate" ในวารสาร R. Cont. Fin (ในปี ค.ศ. 2021) ตั้งข้อสังเกตว่าการซื้อขาย REC นั้นจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส ผู้ซื้อไฟฟ้าที่รับโอน REC จะอาศัย REC เป็นสิ่งยืนยันว่าตนได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ระบบการยืนยันว่า REC นั้นถูกสร้างขึ้นจากการไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริงนั้นยังคงต้นทุนสูง ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องดำเนินกระบวนการตามขั้นตอนมากมาย ส่งผลให้ "ผู้เล่น" ในตลาดนั้นจำกัดเฉพาะบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคเท่านั้น หากจะ "เอาชนะ" ขั้นตอนและต้นทุนดังกล่าวแล้ว Naielly Lopes Marques และคณะ ชวนเราคิดว่าเทคโนโลยี Blockchain อาจเป็นทางออก
Forbes ให้คำอธิบายว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีดิจิทัลที่บันทึกธุรกรรมระหว่างผู้ทำธุรกรรม และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมที่เกิดขึ้น ผ่านระบบกระจายศูนย์ (Decentralized System) การทวนสอบข้อมูลดังกล่าวจะดำเนินการด้วยบุคคลที่มีส่วนร่วมในระบบจำนวนมาก โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกแล้วจะไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ระบบการบันทึกข้อมูลนี้นอกจากจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของคริปโทเคอร์เรนซีแล้ว ยังสามารถทำให้ธุรกิจและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในภาคพลังงานมีความแน่นอนและเชื่อถือได้อีกด้วย
ตัวอย่างของแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียง เช่น Powerledger (POWR) เป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและพลังงานที่ใช้ Blockchain ของออสเตรเลีย ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 ซึ่งช่วยให้สามารถขายและซื้อพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายอำนาจได้ แพลตฟอร์มนี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงตลาดพลังงานที่หลากหลายทั่วโลก และได้รับการออกแบบมาให้ปรับขนาดได้ตามโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบด้านพลังงานที่แตกต่างกันโดยแพลตฟอร์มนี้เป็นระบบซื้อขาย REC, Carbon Credit และสินทรัพย์พลังงานในรูปแบบ Peer-to-Peer ลูกค้าสามารถซื้อและขายสินทรัพย์เหล่านี้ได้โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลของ Power Ledger ซึ่งก็คือ POWR โดย Power Ledger สร้างรายได้โดยรับค่าคอมมิชชั่นเพียงเล็กน้อยจากการทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง
Power Ledger ให้บริการแปลงพลังงานหมุนเวียนให้เป็น Token หรือ Tokenize โดยปัจจุบันเปิดให้บริการเฉพาะองค์กรขนาดกลาง-ใหญ่ที่มีโครงการพลังงานหมุนเวียนและต้องการแปลงเป็น Token เพื่อขาย โดยสามารถสมัครได้ผ่านการเข้าสู่เว็บไซต์ https://powerledger.io/ เลือก Contact us แล้วกรอกข้อมูลติดต่อ ชื่อบริษัท ประเภทผู้ใช้งาน รายละเอียดติดต่อและพื้นที่ดำเนินการ แล้วรอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ทีมงาน Power Ledger จะติดต่อกลับเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และจัด Onboarding หรือ Demo Platform ให้ตามประเภทผู้ใช้งาน
การใช้ระบบที่อาศัยเทคโนโลยี Blockchain รองรับการโอนและใช้ REC นั้นยังเกิดขึ้นในทางปฏิบัติโดย Singapore Power Group (SP) โดย SP ได้ริเริ่มให้มี "Marketplace"สำหรับ REC ซึ่งใช้เทคโนโลยี Blockchain รองรับการทำงาน ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลของ SP ให้คำอธิบายว่า "โดยอาศัยเทคโนโลยี Blockchain เราทำให้ หลาย ๆ บริษัท ซื้อขายแลกเปลี่ยน REC อย่างสะดวก ไร้รอยต่อ และมั่นคงปลอดภัย" แพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่จับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งประสงค์จะซื้อขาย REC ตามเงื่อนไขและเป้าหมายของตนโดยอัตโนมัติ เช่น ผู้ซื้อสามารถกำหนดว่าจะซื้อ REC ที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียนประเภทใดได้
โดยผู้ที่ต้องการใช้บริการ REC Marketplace สามารถสมัครสมาชิกบนแพลตฟอร์ม SP Group ได้โดยตรงผ่านหน้า REC ภายใต้ Climate Services ของเว็บไซต์ SP Group โดยคลิกปุ่ม Contact Us หรือกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ที่ระบุข้อมูลบริษัท ชื่อโครงการ เทคโนโลยี ความจุผลิต และที่ตั้งโครงการ พร้อมแบบเอกสารโครงการที่เกี่ยวข้อง เมื่อส่งข้อมูลเรียบร้อย ทีมงาน SP Digital จะติดต่อกลับเพื่อยืนยันสิทธิ์และจัดเตรียมบัญชีผู้ใช้งานบนแพลดฟอร์ม REC Marketplace
เมื่อเทียบ REC Marketplace ของ SP กับแพลตฟอร์ม Green Pass มีข้อแตกต่างกันคือ Green Pass จะยังเป็นระบบแพลตฟอร์มที่ผ่าน "คนกลาง" คือผู้ตรวจสอบและเจ้าหน้าที่ และยังไม่ใช้ระบบ Blockchain ซึ่งยังไม่มีระบบให้ผู้ซื้อเลือกประเภทหรือแหล่งที่มาของ REC แตกต่างกับ REC Marketplace ของ SP ที่เป็นระบบที่ใช้ Blockchain เต็มรูปแบบ และรองรับสัญญาอัจฉริยะและการตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งไม่มีการผ่านคนกลาง เป็นการที่ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อทำธุรกรรมกันโดยตรงโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังสามารถเลือกแหล่งพลังงาน ประเทศ ปีที่ผลิต ได้ตามความต้องการ ซึ่งทำให้การซื้อขาย REC ยืดหยุ่นและสะดวกกว่าเมื่อเทียบกับระบบเดิม
สิ่งที่ซื้อขายกันใน Blockchain-Enabled Platform อาจอยู่ในรูปของ REC ที่ผ่านกระบวนการ Tokenization แล้ว (ไม่ใช่ REC แบบดั้งเดิมที่ กฟผ. ออกให้)
Tokenization คือเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนสินทรัพย์ในโลกจริงให้อยู่ในรูปแบบโทเคนที่เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ได้ (Digital Representation) เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจที่ดีขึ้น มีความปลอดภัย สะดวกในการแลกเปลี่ยนและถือครอง โดยสินทรัพย์ที่คนนิยมมา Tokenize ในปัจจุบัน ได้แก่ งานศิลปะ ภาพวาด ภาพโปรไฟล์ โฉนดที่ดิน ผลงานลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น ซึ่งเจ้าของผลงานสามารถนำมาแปลงเป็นโทเคนผ่านผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งผู้ให้บริการนั้นจะทำการ Tokenize บนระบบ Blockchain โดยเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในการนำมาใช้คือ ERC-721 บน Ethereum Blockchain เพราะมาตรฐานดังกล่าวจะทำให้โทเคนมีความเฉพาะตัวขึ้น และถือว่ามีความปลอดภัยสูง
การ Tokenize REC คือการนำเอา REC (แบบดั้งเดิมที่ กฟผ. ออกให้) ซึ่งเป็นสิ่งสามารถอ้างอิงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นมา Tokenize แล้วจึงนำ Tokenized REC มา "ขาย" ในฐานะสิ่งที่ต้องส่งมอบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนที่ส่งมอบแบบเสมือน Tokenized REC สามารถถูกซื้อได้อย่างโปร่งใสผ่านการเก็บข้อมูลโดยตัว Blockchain ธุรกรรมนี้สามารถทำได้แทบจะทันท่วงทีผ่านสัญญาอัจฉริยะ โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง เป็นระบบการซื้อขายมีความปลอดภัยและมีการทวนสอบได้ผ่าน Cryptographic Verification ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตรายเล็กและผู้ใช้ไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นอันเป็นการมุ่งหน้าสู่ "Democratized Energy Trading" (ข้อมูลจาก Anna Korunska, Head of Engineering at Blaize ใน B.LOG)
ในประเทศไทยมี Tokenized REC และ Blockchain-Enabled Platform เป็นไปได้หรือไม่ ? เมื่อกระบวนการ Tokenize และตัว Trading Platform นั้นอาศัยเทคโนโลยี Blockchain เป็นฐาน ดังนั้นแล้ว ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีนี้ย่อมสามารถทำได้ สร้างตัว Tokenized REC และให้บริการ Blockchain-Enabled Platform
หากมีการทำ Tokenized REC ขึ้นแล้วเราจะซื้อขายและโอน Tokenized REC อย่างไร ในประเด็นนี้ ผู้เขียนเห็นว่าพัฒนาการของระบบการกำกับดูแลในประเทศไทยตามเอกสารรับฟังความคิดเห็น เลขที่ อนด. 11/2568 เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนการให้บริการซื้อขาย Tokenized Carbon Credit และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero
เอกสารนี้อธิบายถึง "Tokenized REC" ในฐานะ Consumption-Based Utility Token พร้อมใช้ที่สามารถนำมาให้บริการได้ โดยให้นิยามว่า REC คือ ใบรับรองซึ่งแสดงกรรมสิทธิ์ในคุณลักษณะของพลังงานไฟฟ้า (Energy Attribute) ที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนประเภทใดประเภทหนึ่ง
โดย Tokenized REC นั้นจะต้องมีมาตรฐานรับรองที่น่าเชื่อถือ เช่น มีมาตรฐาน I-REC รองรับ มีการกำหนดสิทธิให้แก่ผู้ถือและวิธีการชดเชย (Retirement) ที่ชัดเจน ส่วนผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายนั้นต้องมีการเปิดเผยสาระสำคัญของระบบหรือมาตรฐานการคัดเลือกหรือมาตรฐานการเพิกถอนโทเคนดิจิทัลให้ผู้ลงทุนทราบ
โดยสรุป ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยมีทั้ง "ตลาด" และ "ผู้เล่น" ที่มีศักยภาพในการออก Tokenized REC และพัฒนา Blockchain-Enabled Platform เพื่อตอบสนองต่อความต้องการ REC และการยืนยันการใช้ไฟฟ้าสะอาด เมื่อเรามี กฟผ. ซึ่งสามารถออก REC ตามมาตรฐาน I-REC ได้ ย่อมหมายความว่า Tokenized REC นั้นมีสินทรัพย์อ้างอิงอย่างแท้จริง
การ Tokenize REC นั้นทำได้โดยผ่านเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งในประเทศไทยมีผู้ให้บริการดังกล่าวได้ การซื้อขายนั้นสามารถทำได้โดยผ่าน Blockchain-Enabled Platform ซึ่งในประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบการซื้อขายดังกล่าวเช่นกัน
การซื้อขายและโอน Tokenized REC ในระบบการซื้อขายนี้แตกต่างไปจาก Marketplace การซื้อขาย REC แบบดั้งเดิม ที่สำคัญคือ ความต้องการไฟฟ้าสะอาดที่ยืนยันผ่าน REC หรือ Tokenized REC นั้นยังมีอยู่แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามถอยออกจากการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด ดังนั้น การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำอาจไม่ใช้สิ่งที่ทรัมป์ตัดสินใจและบังคับได้เอง
ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)
หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย