นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำงานเสวนาวิชาการ PRIDI Talks#30 ในหัวข้อ "สันติธรรมประชาธิปไตยตามแนวคิดของรัฐบุรุษ" ว่า ประชาธิปไตยไร้สันติภาพสะท้อนว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงเปลือกนอก เพียงรูปแบบ ไม่ใช่เนื้อหาสาระ ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงย่อมมีสันติภาพและสันติธรรม สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง ประชาธิปไตยจะเปิดพื้นที่ให้ความแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้ เปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วม ลดความเกลียดชัง ลดอคติที่ต่อกัน สามารถแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์ในทุกๆเรื่องโดยไม่มีการยัดข้อกล่าวหรือทำร้ายซึ่งกันและกัน
ประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคมครั้งใหญ่ ต้องหยุดโครงสร้างที่กดทับคนส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าถึงโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงความจำเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม โครงสร้างอันไม่เป็นธรรมเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยแบบไทยไทยไม่มีสันติสุข เกิดความรุนแรงทางการเมือง ความขัดแย้งทางสังคมเป็นระยะ ๆ มีรัฐประหารเฉลี่ย 4-5 ปีต่อครั้ง ยังคงเป็นประเทศด้อยพัฒนาทางประชาธิปไตย แม้จะมีการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนาฯ มาแล้วเกือบ 93 ปี
หากพิจารณาหลัก 6 ประการของคณะราษฎร และแนวคิดภราดรภาพนิยมของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์แล้ว จะเห็นภาพอันแจ่มชัดว่านี่คือรากฐานสำคัญแห่งสันติธรรมประชาธิปไตย ปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอสันติภาพบนฐานของพุทธธรรม สังคมที่มีเมตตา ภราดรภาพ และความเสมอภาคจะเป็นรากฐานของยุคใหม่ ส่วนสังคมที่กดขี่ เบียดเบียน ไม่ยึดธรรมะจะเสื่อมและล่มสลายในที่สุด เราหวังเช่นนั้น
ถ้าประชาธิปไตยสมบูรณ์ถูกสถาปนาขึ้นอย่างแท้จริงในสังคมไทย ปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย เสรีภาพ สันติภาพ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ไม่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของเอกราชและความรักชาติเท่านั้น แต่เป็นเนื้อหาสาระ เป็นจิตวิญญาณของสิ่งเหล่านี้ อย่างล่าสุดภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกที่ท่านอำนวยการสร้างได้รับการยกย่องโดยยูเนสโก ให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (Memory of the World) ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกเป็นความตั้งใจในการเผยแพร่แนวคิดสันติภาพสู่ประชาคมโลกช่วงก่อนสงครามครั้งที่สอง ของคณะผู้จัดสร้างภาพยนตร์
ทางออกของความรุนแรงระลอกล่าสุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ การที่รัฐต้องสามารถบังคับใช้กฎหมายให้ได้ พร้อมกับการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชนในพื้นที่ ระมัดระวังไม่สร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายก่อความไม่สงบสร้างความรุนแรงเพิ่ม ทำอย่างไรให้หยุดยิง หยุดความรุนแรง แล้วเริ่มกระบวนการเจรจา
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้เมื่อรัฐบาลและกองทัพมีความเป็นเอกภาพ มีจุดยืนและแนวทางในการแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน ยึดรัฐธรรมนูญประเทศเป็นราชอาณาจักรที่แบ่งแยกไม่ได้ แต่เอกภาพแห่งชาติไทยต้องอยู่บนฐานของประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศมีสิทธิมีเสียงร่วมกัน มีความเป็นธรรม ไม่ละเลยความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ ไม่กดทับอัตลักษณ์ ทำให้ความรักในท้องถิ่นเป็นพลังของรัฐประชาชาติที่เข้มแข็งมั่นคง
ขณะนี้ผู้ก่อความไม่สงบได้มีการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง การใช้วิธีการเยี่ยงนี้การเจรจาย่อมไม่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การเจรจาหารือคือหนทางสำคัญในการสร้างสันติภาพอย่างถาวร และยุติวังวนของความเกลียดชัง ความเกลียดชังเหล่านี้บางส่วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์เชิงอำนาจ เพื่อแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ชาวบ้านในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกันได้แม้มีความแตกต่างทางด้านลัทธิความเชื่อทางศาสนา
การยืนยันในแนวทางสันติวิธีต้องไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแนวร่วมผู้ก่อความไม่สงบ การเสนอให้เจรจาและหยุดยิงแทนการใช้กำลังอาวุธทำร้ายกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกับมนุษย์ทุกคน ส่วนใครก็ตามใช้การทำลายชีวิตผู้อื่น โดยเฉพาะโจมตีเป้าหมายอ่อนแอ เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ เขาเหล่านี้หรือองค์กรแบบนี้ต้องถูกดำเนินการลงโทษโดยกฎหมายอย่างเด็ดขาด ความรุนแรงต่อพลเรือนไม่เพียงละเมิดหลักศาสนธรรมและสิทธิมนุษยชนเท่านั้น แต่ทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธลงอย่างสิ้นเชิง
อีกด้านหนึ่งผู้รักสันติทั้งหลายต้องช่วยกันติดตามขบวนการ IO ปั่นกระแสความขัดแย้งความเกลียดชังมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ขบวนการเหล่าสร้างความยุ่งยากซับซ้อนในการแก้ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่ โดยเฉพาะทำให้กระบวนการเจรจาเพื่อสันติภาพหยุดชะงัก
เนลสัน แมนเดลา รัฐบุรุษนักสู้เพื่อความเสมอภาคและต่อต้านการเหยียดผิว เป็นผู้สถาปนาแอฟริกาใต้ให้เป็นประเทศที่คนทุกสีผิวได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ สถานการณ์สงครามและความรุนแรงจากการเหยียดผิวในแอฟริกาใต้นั้นแก้ยากกว่าสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาก แต่ เนลสัน แมนเดลา และผู้รักสันติธรรมประชาธิปไตยในแอฟริกาใต้ทั้งหลายก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ตนขอยกคำกล่าวของเนลสัน แมนเดลา ที่ให้ข้อคิดที่ดีมาก "ไม่มีใครเกลียดคนอื่นเพราะมีสีผิว พื้นเพและศาสนาที่แตกต่างมาตั้งแต่เกิด คนทุกคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเกลียดผู้อื่น และเมื่อเราสามารถเรียนรู้ที่จะเกลียดได้แล้ว ก็สามารถเรียนรู้ที่จะรักได้เหมือนกัน เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ความรักเกิดขึ้นในหัวใจของคนเราได้ง่ายกว่าความเกลียดเสียอีก"
สงครามเย็นสิ้นสุดไปแล้วหลายทศวรรษ สงครามโลกครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อ 84 ปีที่แล้ว พวกเราอยู่ในยุคสมัยที่ปลอดจากสงครามโลก มีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าช่วงเวลาใด ๆ ของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่โลกก็ไม่เคยสิ้นสงครามและความขัดแย้งรุนแรง สงครามยังปะทุขึ้นเป็นระยะ ๆ ทั่วโลก สงครามเย็นรอบใหม่กำลังกลับมา สงครามการค้าสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจเป็นสัญญาณแรกแห่งความขัดแย้งรุนแรงในศตวรรษที่ 21 ขณะที่สงครามระหว่างระบอบปูตินรัสเซียกับยูเครนยังคงไม่มีท่าทีจะจบสิ้นเมื่อไหร่อย่างไร สงครามและความขัดแย้งรุนแรงยังคงปะทุขึ้นตลอดเวลาในตะวันออกกลาง การเติบโตขึ้นของกระแสขวาจัดชาตินิยมสุดขั้วและระบอบอำนาจนิยมในหลายประเทศอาจนำมาสู่สงครามและความขัดแย้งในอนาคตได้
ภารกิจของนักต่อสู้เพื่อสันติภาพต้องเดินหน้าต่อไป การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และประชาธิปไตยต้องขับเคลื่อนต่อไป เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพและเสรีภาพการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า สันติสุขของมนุษยชาติยังต้องดำเนินต่อไปอย่างแข็งขัน แนวทางอหิงสาก็ดี แนวทางความสมานฉันท์ผ่านการให้อภัยดี ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าขึ้น ดีขึ้น อย่างสันติทั้งสิ้น
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เราเห็นผู้นำมากมายอุทิศตัวให้กับการต่อสู้เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคเป็นธรรม ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็น ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง, เนลสัน แมนเดลา, อองซาน ซูจี, มหาตมะ คานธี, จิมมี่ คาร์เตอร์, โคฟี อันนัน, โรซาร์ ปาร์ค, อัลเบิร์ต ไอสไตน์ และท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็เป็นหนึ่งในบรรดาผู้นำเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม "ไม่มีรัฐบุรุษคนใดสามารถสร้างสันติธรรมประชาธิปไตยได้ หากมวลชนไม่ตระหนัก ไม่สนับสนุน และไม่เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวอย่างเอาจริงเอาจังให้เกิดขึ้น"