
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ประกาศปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์สำนักงานเขตจตุจักร โดยมีผลในวันที่ 15 พ.ค. 68 เวลา 16.00 น.หลังเสร็จสิ้นภารกิจกู้ซากตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
น.ส.ภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ กล่าวว่า ขอปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อย่างเป็นทางการ โดยให้มีผลในวันที่ 15 พ.ค. 68 เวลา 16.00 น. เพื่อขนย้ายวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันว่า ระหว่างวันที่ 13-15 พ.ค. 68 จะมีการขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ เครื่องจักรหนักออกจากพื้นที่อาจจะไม่สะดวกในการสัญจรไปมา ขอให้ใช้ความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเส้นทางในวันและเวลาดังกล่าว

นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร (สปภ.) แจ้งว่า ในส่วนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเริ่มดำเนินการถอนกำลัง ในวันนี้ ซึ่งเครื่องจักรจะทยอยเคลื่อนย้ายออกโดยต้องใช้รถขนย้าย เช็กข้อมูลทั้งกำลังคน และเครื่องจักรต่าง ๆ ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว
ทางด้าน พล.ต.ต.วาที อัศวุตมางกุร ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง แจ้งรายละเอียดการพิสูจน์หลักและการอายัดว่า ส่วนแรก คือส่วนของศูนย์ปฏิบัติการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลที่สถาบันนิติเวช ร่วมกับผู้อำนวยการนิติเวชของโรงพยาบาลตำรวจ ในส่วนของโรงพยาบาลตำรวจ ได้ทำการพิสูจน์บุคคลตั้งแต่วันแรกที่ผ่านมา 89 ราย แบ่งออกเป็นร่างที่สมบูรณ์ 80 ราย และอีก 9 ราย ที่เป็นชิ้นส่วน

โดย ณ ปัจจุบัน มีการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ไปแล้ว 72 ราย ซึ่งตอนนี้ไม่มีศพเข้ามาที่นิติเวช แต่ยังมีการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอจากชิ้นส่วนกว่า 200 ชิ้น และวันนี้จะมีการปล่อยศพรวมทั้งหมด 86 ราย
นอกจากนี้ ยังมีการอายัดแท่งคอนกรีตและเศษวัสดุต่าง ๆ จากอาคารที่ถล่มและอาคารข้างเคียงอีกจำนวนหนึ่ง โดยจะอายัดจุดอาคารถล่มถึงวันที่ 31 พ.ค. และจุดกองปูนถึงวันที่ 20 พ.ค.
ด้าน น.ส.ฐิตาพรรณ ฉันทโชติ จากกรมโยธาธิการและผังเมือง แจ้งถึงการเก็บตัวอย่างจากพื้นที่สตง. ถล่ม ว่า จะมีการเก็บเพิ่มเติม ที่จะอายัดถึงวันที่ 31 พ.ค. ซึ่งจะมีชิ้นส่วนอาคารที่ยังคงสภาพจากการรื้อถอนอยู่ โดยกรมฯ พิจารณาแล้วว่า จะขอเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นและคอนกรีตในส่วนเสาและบ่อลิฟต์ที่เหลืออยู่
ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของค่าใช้จ่ายในแง่ของการช่วยเหลือประชาชนที่มีการมาร้องขอการช่วยเหลือ ทั้ง 50 เขต เราปิดรับเรื่องไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 68 โดยส่วนใหญ่กว่า 40,000 เคส เป็นเรื่องการขอค่าวัสดุซ่อมแซมบ้าน ส่วนที่เหลือน้อยมากเป็นเรื่องอื่น ๆ ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 176 ล้านบาท ส่วนยอดการใช้น้ำมันในพื้นที่ที่ประสบภัย ต่ำสุดอยู่ที่กว่า 3,000 ลิตร สูงสุดกว่า 6,000 ลิตร เพราะฉะนั้นโดยเฉลี่ยแล้ว ค่าน้ำมันเครื่องยนต์และเครน อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาทต่อวัน
นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกที่เราใช้ขนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้น้ำมัน เช่น ระบบไฮดรอลิก หรือแม้แต่กระทั่งเครื่องปั่นไฟ เครื่องมือที่ใช้ตัดเหล็ก อาจจะยังคำนวณไม่ได้ แต่ว่าก็เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ยังไม่นับรวมว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับอุปกรณ์ของคนที่มาช่วยทั้งหมด เช่น ค่าเสียเวลา ค่าซ่อมแซมอุปกรณ์ อะไหล่ต่าง ๆ ทั้งนี้ รายการซ่อมมีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีบันทึกการซ่อมทุกวันว่าเครื่องยนต์ที่เราใช้เป็นอย่างไรบ้าง
ส่วนในเรื่องการขยายการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล ในหมวดของการให้ความช่วยเหลือประชาชน กทม. ทำเรื่องปรึกษากรมบัญชีกลางไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการที่อุดหนุนค่าน้ำมัน ซึ่งแม้ว่าทางบริษัทอิตาเลียน-ไทยจะอุดหนุนค่าน้ำมันมาตลอดระยะเวลา 48 วัน แต่จะมีช่วงแรกที่อาจมีอาสาสมัครที่ได้จัดการด้วยตัวเอง ทั้งในแง่ของการซ่อมและในแง่ของน้ำมัน และอยู่ระหว่างทำเรื่องขอขยายความช่วยเหลือเรื่องนี้
โดยอีกส่วนคือเรื่องของการปฏิบัติงาน โดยในส่วนของข้าราชการนั้นทุกคนต้องปฏิบัติงานอยู่แล้วตามหน้าที่ แต่ในส่วนของเอกชนหรือแม้แต่อาสาสมัครที่มาช่วย ทางหน่วยงานเขาเป็นคนจ้างมาแล้วก็มาทำงานอยู่กับเรา เพราะฉะนั้นต้องทำเรื่องขอขยายวัตถุประสงค์การใช้เงินช่วยเหลืออุดหนุนค่าจ้างของอาสาสมัคร ซึ่งถึงแม้ว่าจะมาด้วยความตั้งใจตั้งแต่แรกก็ตาม แต่ว่าระยะเวลาเกือบ 50 วัน เป็นระยะเวลาที่นานมากกับการที่เขาก็ต้องหยุดทำงาน
ทั้งนี้ อีกส่วนหนึ่งคือการที่เราปิดถนนหลายวันทำให้การค้าขายย่านนี้ก็กระทบไปด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ขอขยายวัตถุประสงค์เงินชดเชยส่วนนี้ไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ของกรมบัญชีกลางด้วย จากเดิมเคยอนุมัติอยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่งยังต้องใช้อีก 176 ล้านบาท สำหรับการช่วยเหลือประชาชนในค่าวัสดุซ่อมบ้าน ค่าใช้จ่ายหน้างาน ซึ่งก็เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันคาดว่ากว่า 10 ล้านบาท เพราะฉะนั้นก็จะประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมดขึ้นไปด้วย