ตามที่มีการระบุเรื่องงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 30 บาท ไม่เพียงพอและเสี่ยงล่มสลายภายใน 3 ปีจากประเด็นการคิดเงินผู้ป่วยในที่มีการประเมินไว้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 9 ล้านจุด จุดละ 8,350 บาท แต่ปรากฎว่าในรอบปีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าการคาดการณ์ โดยคลาดเคลื่อนไป 8.37% จึงต้องมีการลดเงินในส่วนของผู้รับจ้าง ทำให้ผู้ให้บริการที่มารับจ้างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คิดว่าถ้าลดจาก 8,350 บาท มาเป็น 7,100 บาทก็จะขาดทุน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งเกิดขึ้นเป็นการคาดการณ์จำนวนที่คลาดเคลื่อน หากคำนวณถูกต้องทุกอย่างก็เหมือนเดิม ตนจึงแนะนำให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องการจ่ายเงิน และตรวจสอบความถูกต้อง
"การที่เป็นแบบนี้ เพราะมีการนับผิดหรือจำนวนคนป่วยเพิ่มมากขึ้น จะไปล้มละลายได้อย่างไร เพราะ 30 บาทรักษาทุกที่เป็นนโยบายที่รัฐบาลการันตี" นายสมศักดิ์ กล่าว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ยืนยันว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล่มสลาย ประเทศไทยได้รับการยกย่องจากนานาประเทศในเรื่องนี้ และเป็นผลงานที่รัฐบาลนำไปเสนอในเวทีระดับโลกมาโดยตลอด และไทยก็ยังเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศที่กำลังจะทำหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนในประเทศ
สปสช.ขอชี้แจงว่าตัวเลขอัตราจ่ายผู้ป่วยใน 7,100 บาทต่อ adj.RW นั้นเป็นการคำนวณจากจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สปสช. ได้นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการงานและการบริหารจัดการกองทุนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่ายืนยันอัตราจ่ายผู้ป่วยในที่ 8,350 บาทต่อ adj.RW และ สปสช. จะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป ดังนั้นไม่มีการปรับลดอัตราจ่ายผู้ป่วยในเหลือ 7,100 บาทต่อ adj.RW อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ การที่งบประมาณการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในเป็นงบประมาณปลายปิด หรือ Global budget นั้น เนื่องจากเป็นไปตามแนวทางวิชาการของการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนใช้หลักการนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบ ในส่วนของประเทศไทย เราใช้หลักการว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8,350 บาทต่อ adj.RW หากปลายปีงบประมาณไม่เพียงพอให้เสนอของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งในการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการนั้น สปสช. ได้รับงบประมาณมาเท่าไหร่ ก็จ่ายตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายให้กับโรงพยาบาลไปทั้งหมด หากปีไหนมีเงินเหลือก็โอนเพิ่มให้โรงพยาบาลเช่นกัน เช่น ในปี 2561-2564 การให้บริการผู้ป่วยในลดลง ทำให้มีงบประมาณเหลือ สปสช. ก็จัดสรรเพิ่มเติมให้โรงพยาบาลไปทั้งหมด
ยกตัวอย่างในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา สปสช. ได้รับจัดสรรงบกลาง จำนวน 5,924 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ สปสช. จัดสรรค่าบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ 1,705 ล้านบาท และเงินส่วนที่เหลือได้นำมาจัดสรรค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการ ในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ adj.RW
อย่างไรก็ตามที่มีข้อเสนอให้ สปสช. ปรับเพิ่มอัตราจ่ายผู้ป่วยในนั้น สปสช. ขอชี้แจงว่า ในการเสนอของบประมาณแต่ละปีจากสำนักงบประมาณนั้น สปสช. ต้องทำข้อเสนอตัวเลขและมีฐานข้อมูลที่ได้มาตรฐานรองรับด้วย ดังนั้นการจะเพิ่มเป็นอัตราเท่าไหรจึงจะเหมาะสมกับต้นทุนของโรงพยาบาล และไม่เป็นภาระต่องบประมาณของประเทศนั้น ต้องมีการศึกษาและต้องเป็นหน่วยงานกลางที่เข้ามาทำหน้าที่นี้ซึ่งสปสช. จะทำข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการที่เป็นกลางมาศึกษาอัตราจ่ายที่เหมาะสมสำหรับกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐต่อไป เมื่อได้คณะกรรมการที่เป็นกลางในการศึกษาแล้วจะทำให้เราได้ทราบข้อมูลต้นทุนที่แท้จริงของโรงพยาบาลและสามารถคำนวณเป็นอัตราจ่ายที่เหมาะสมในการให้บริการต่อไป