อุตุฯ เคลียร์ชัดแผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่เกิดสึนามิ-ไม่มีผลต่อประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday July 4, 2025 14:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อุตุฯ เคลียร์ชัดแผ่นดินไหวหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่เกิดสึนามิ-ไม่มีผลต่อประเทศไทย

นายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวกลุ่ม ศูนย์กลางบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย (Nicobar Islands, India Region) ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.-3 ก.ค. 68 มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นต่อเนื่อง 112 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง (Earthquake Swarm) ขนาด 3.4-4.9

"บริเวณดังกล่าว อยู่ใกล้แนวชนของแผ่นทวีป มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายกลุ่มรอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนขนาดนี้จะมีระยะห่างของแผ่นเปลือกโลกที่ค่อนข้างบาง จึงทำให้มีลาวาดันขึ้นมาสู่พื้นผิวทะเลได้ง่าย ปัจจัยนี้อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้บ่อย และมีปริมาณที่มาก หรือเรียกได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวกลุ่ม" นายนัฐวุฒิ กล่าว

นายนัฐวุฒิ กล่าวว่า จากเหตุการณ์นี้ เนื่องจากรอยเลื่อนดังกล่าวอยู่ในแนวระนาบ จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดสึนามิ ดังนั้น ขอประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลในกรณีที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในบริเวณนี้

"ในอดีต มีการเกิดแผ่นดินไหวกลุ่ม ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับครั้งนี้อยู่หลายครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบการเกิดสึนามิในบริเวณนี้" นายนัฐวุฒิ กล่าว

ส่วนที่มีกระแสข่าวที่ว่า จะเกิดสึนามิในวันที่ 5 ก.ค. นี้ นายนัฐวุฒิ กล่าวว่า จากค่าสถิติที่เคยตรวจวัดได้ พบว่า หากจะเกิดเหตุการณ์สึนามิ จะต้องเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่มากกว่า 7.5 และอยู่คนละรอยแนวเลื่อนจากที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้น ประชาชนสามารถปฏิบัติตนตามการฝึกซ้อมของหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ดำเนินการฝึกซ้อมไว้แล้ว และหากจะเกิดสึนามิขึ้น กรมอุตุฯ สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้ประชาชนสามารถอพยพได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว และอย่าเชื่อข่าวลือที่ไม่ได้มาจากแหล่งข้อมูลทางการ

โดยสึนามิ เกิดจากสาเหตุจากธรรมชาติ ได้แก่

1. แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในทะเลขนาดมากกว่า 7.5 ความลึกน้อยกว่า 100 กิโลเมตร และเกิดในแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก หรือมีการเลื่อนตัวในแนวดิ่ง เช่น เหตุการณ์สึนามิปี 2547 บริเวณแนวมุดตัวสุมาตรา-อันดามัน

2. ภูเขาไฟระเบิดใต้ทะเล

3. ดินถล่มใต้ทะเล

4. อุกกาบาตตกลงในทะเล



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ