
น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย โดยที่ประชุมฯ มีมติอนุมัติในหลักการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ดังนี้
1. กรณีเสียชีวิต เป็นค่าจัดการศพ รายละ 1,000,000 บาท
2. กรณีทุพพลภาพ รายละ 700,000 บาท
3. กรณีบาดเจ็บสาหัส รายละ 200,000 บาท
4. กรณีบาดเจ็บมาก รายละ 100,000 บาท

5. กรณีบาดเจ็บเล็กน้อย รายละ 50,000 บาท
สำหรับกรณีที่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 ประสบอันตรายจากสถานการณ์ดังกล่าว และไม่อยู่ระหว่างปฏิบัติงาน (ไม่เนื่องจากการทำงาน) นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า มีสิทธิเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลทุกแห่งภายใน 72 ชั่วโมง อัตราตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ หากเป็นเหตุให้ทุพพลภาพจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราสูงสุดร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดชีวิต
รวมถึงหากเสียชีวิต ทายาทจะได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท เงินสงเคราะห์กรณีตายในอัตราสูงสุดร้อยละ 50 ของค่าจ้าง จำนวน 12 เดือน และเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล
กรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับความคุ้มครองกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เช่น ค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป วันละ 300 บาท ทั้ง 3 ทางเลือก หากไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่มีใบรับรองแพทย์ให้หยุดรักษาตัว ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป วันละ 200 บาท ทั้ง 3 ทางเลือก
กรณีทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ต่อเดือน 500 - 1,000 บาท เป็นต้น
กรณีตาย ทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 จะได้รับค่าทำศพ จำนวน 25,000 บาท และทางเลือกที่ 3 จะได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 50,000 บาท
นอกจากนี้ หากผู้เสียชีวิตเป็นลูกจ้างและเสียชีวิตขณะปฏิบัติงานให้นายจ้าง ทายาทของลูกจ้าง จะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ประกอบด้วย ค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตเป็นเงินร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 10 ปี และเงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล
ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงานจะได้รับความคุ้มครองจากกองทุนเงินทดแทน เช่นกัน โดยได้รับค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น 65,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐจนสิ้นสุดการรักษาจะได้รับค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษากรณีแพทย์รับรองให้หยุดพักรักษาตัว มีสิทธิได้รับค่าทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนไม่เกิน 1 ปี หากมีการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานจะได้รับค่าทดแทน กรณีสูญเสียอวัยวะร้อยละ 70 ของค่าจ้าง รายเดือน ตามอัตราการสูญเสีย และในกรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต