กรมชลฯ เล็งย้ายเครื่องสูบน้ำจากฝั่งตอ.มาติดตั้งฝั่งตต.เพื่อเร่งระบายน้ำ

ข่าวทั่วไป Thursday November 17, 2011 15:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติมในพื้นที่ฝั่งตะวันตก จำนวน 96 เครื่อง เพื่อช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำท่าจีนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ หากสถานการณ์น้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จะได้พิจารณาย้ายเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออก นำไปติดตั้งเพิ่มให้ฝั่งตะวันตก เพื่อช่วยระบายน้ำให้ได้มากที่สุดต่อไป

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำตามคลองต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกตอนล่าง ให้น้ำไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วยิ่งขึ้น ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม จำนวน 18 เครื่อง บริเวณคลองสนามชัย คลองพระยาราชมนตรี คลองสะแกงาม คลองสี่บาท ประตูระบายน้ำไทรป่า และบริเวณท้ายประตูระบายน้ำประชาศรัย เป็นต้น ส่วนในแม่น้ำท่าจีน ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 37 เครื่อง ซึ่งจะช่วยให้การระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลได้เร็วยิ่งขึ้นเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (17 พ.ย. 54) ที่จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,245 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 66 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.01 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท 2,191 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อน สูงกว่าระดับตลิ่ง 60 เซนติเมตร ระดับน้ำท้ายเขื่อนต่ำกว่าตลิ่ง 1.41 เมตร

จังหวัดสิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 88 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 50 เซนติเมตร จังหวัดอ่างทอง มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,690 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 56 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.34 เมตร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,237 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดลงจากวานนี้ 33 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 34 เซนติเมตร ส่วนที่ อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,766 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 41 เซนติเมตร

แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดนครสวรรค์และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ยังคงมีน้ำที่ท่วมขังค้างทุ่งบางส่วนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ