สธ.เตรียมพร้อม รพ.ในสังกัด พร้อมบุคลากรนับหมื่นรับช่วง 7 วันอันตราย

ข่าวทั่วไป Wednesday December 28, 2011 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.สาธารณสุข สั่งเตรียมพร้อมโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งรับมืออุบัติเหตุช่วงปีใหม่ พร้อมเพิ่มกำลังแพทย์พยาบาลอีก 2 เท่าตัว สำรองยาเวชภัณฑ์ ห้องผ่าตัด คลังเลือดห้องฉุกเฉิน จัดแพทย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุอยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง จัดทีมแพทย์กู้ชีพ 11,138 ทีมประจำการ พร้อมรถพยาบาล เรือออกช่วยเหลือถึงจุดเกิดเหตุและนำส่งโรงพยาบาลภายใน 10 นาที พร้อมเตรียมส่งสายตรวจจับผู้ฝ่าฝืนกฎหมายขายเหล้าทุกจังหวัดดำเนินคดีปรับ-จำคุกโดยไม่ละเว้น

นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ในช่วงรณรงค์ "7 วันอันตราย" ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554-4 มกราคม 2555 ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2554 ใน 3 มาตรการหลัก มาตรการแรก ได้แก่ การรณรงค์เสริมความปลอดภัยการเดินทาง โดยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ร่วมรณรงค์ใส่หมวกกันน็อคคาดเข็มขัดนิรภัย ดื่มไม่ขับ และร่วมตั้งจุดตรวจ จุดบริการในพื้นที่ต่างๆในจังหวัด ทั้งในชุมชน บนถนนสายหลักและสายรอง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ จุดบริการ อยู่ห่างกันมากจะให้โรงพยาบาลที่อยู่บนเส้นทางหลวงจัดหน่วยบริการกู้ชีพฉุกเฉินอยู่ประจำบริเวณเส้นทางหลวงตามความเหมาะสม เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาล

"เนื่องจากสถิติผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลในปี 2554 พบว่า 2 ใน 3 เสียชีวิตก่อนถึงโรงพยาบาล จึงควรเน้นการป้องกันอย่างจริงจัง เข้มงวดใช้มาตรการทางกฎหมายหรือมาตรการทางสังคมอย่างเคร่งครัด ควรทุ่มทรัพยากรลงไปในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันที่มียอดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด" นายวิทยา กล่าว

มาตรการที่ 2 คือ การดูแลรักษาผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือระบบการแพทย์ฉุกเฉิน(EMS) ช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บให้ปลอดภัยที่สุด เน้นนโยบาย 3 เร็ว คือแจ้งเหตุเร็วรับผู้ป่วยเร็ว ส่งรักษาเร็ว และฟรีทั่วไทย โดยเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินทั้งภาครัฐ เอกชน และมูลนิธิอาสาสมัครทั่วประเทศทั้งหมด 11,138 ทีม บุคลากรมืออาชีพทุกระดับรวม 122,945 คน รถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต 14,189 คัน เรือ 1,128ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 100 ลำโดยมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการจังหวัด 78 ศูนย์ ประชาชนที่ประสบเหตุทั่วประเทศ สามารถโทรขอความช่วยเหลือฟรี ทางหมายเลข 1669 ซึ่งมี 300 คู่สายตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งเป้าหมายนำผู้บาดเจ็บส่งรักษาโรงพยาบาลภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 75 ของเหตุทั้งหมด ส่วนที่ 2 คือระบบการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ได้ให้โรงพยาบาล 875 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มกำลังแพทย์พยาบาล 2 เท่าตัว จัดความพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู และหอผู้ป่วย สำรองคลังเลือดให้ครบทุกหมู่ และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้จัดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านอุบัติเหตุประจำการที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงรวมทั้งการรับ-ส่งผู้ป่วยรักษาต่อให้คล่องตัว

มาตรการที่ 3 คือ การควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 เพื่อลดเหตุจากเมาแล้วขับอย่างเข้มข้น และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งก่อนวันที่ 29 ธันวาคม 2554 ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประชาสัมพันธ์พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎมาย 2 ฉบับ และตรวจเตือนการกระทำผิด อาทิ การขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานห้ามดื่ม ห้ามขาย อาทิ สวนสาธารณะ อุทยาน ปั๊มน้ำมัน ขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีการเร่ขาย ขายโดยไม่มีใบอนุญาตขายสุรา ขายในเวลาที่ต้องห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขายในลักษณะ ลดแลกแจกแถม เป็นต้นโดยในช่วงเทศกาลวันที่ 29 ธันวาคม 2554-4 มกราคม 2555 จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจทุกจังหวัดทุกพื้นที่ และดำเนินคดีโดยไม่ละเว้น ไม่มีการอ้างว่าไม่รู้กฎหมายอีกต่อไป เช่นหากขายสุราในสถานที่ห้ามขาย มีโทษปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ ขายสุราในเวลาห้ามขายปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับโดยเปิดสายด่วนรับแจ้งผู้กระทำผิด ตลอด 24 ชั่วโมงทางหมายเลข 1422 และ 0-2590-3342

ทั้งนี้จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนเทศกาลปีใหม่ 2554 สะสม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2554 มีผู้เสียชีวิต 358 ราย บาดเจ็บทั้งหมด 25,224 ราย ในจำนวนนี้ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,750 ราย สาเหตุอับดับหนึ่งร้อยละ 41 มาจากเมาสุราในกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่บาดเจ็บเป็นเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปี และดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการขับขี่สูงถึงร้อยละ 84 ผู้ที่เสียชีวิตร้อยละ 54 เกิดบนถนนเส้นทางหลักส่วนการบาดเจ็บจะเกิดบนถนนชนบทและถนนในเมืองร้อยละ 72 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดพบได้ประมาณ 1 ใน 3 คือช่วงเย็นและกลางคืนเวลา16.00-20.00 น. วันที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือวันที่ 1 มกราคมรองลงมาวันที่ 31 ธันวาคม ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า การบาดเจ็บและเสียชีวิตของเยาวชนจะสัมพันธ์กับการขับขี่รถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับเร็วเมาแล้วขับและไม่มีใบอนุญาตขับขี่

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ขอฝากข้อแนะนำประชาชนที่จะมีการเดินทาง ใช้รถใช้ถนน ควรศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทางในเส้นทางที่ปลอดภัย ควรเผื่อเวลาให้เพียงพอไม่เร่งรีบเกินไป และเดินทางช่วงกลางวัน ผู้ที่ทำหน้าที่ขับรถต้องพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง ไม่ดื่มสุราทั้งก่อนและระหว่างเดินทางผู้ใช้รถยนต์ควรคาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง รถที่ใช้ต้องได้รับการตรวจสอบสภาพเป็นอย่างดีก่อนเดินทางโดยเฉพาะระบบเบรก ยาง และระบบบังคับเลี้ยว เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง ต้องไม่ขับเร็ว ตัดหน้ากระชั้นชิด และ แซงรถอื่นอย่างผิดกฎหมาย หากพบผู้ขับขี่ เหยียบเบรกบ่อยๆนั่งนิ่งนานๆ หรือหาวบ่อยๆ ควรให้พักรถหรือเปลี่ยนผู้ขับรถ ถ้าง่วงต้องหยุดพัก ควรหยุดพัก 15 นาที หรือทุก 2 ชั่วโมงหรือทุกระยะทาง 150 กิโลเมตร หากรู้สึกอ่อนล้าควรงีบหลับก่อนขับต่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ