กรมชลฯ ปรับแผนระบายน้ำเขื่อนใหญ่ให้เหมาะสมกับฤดูแล้งและฤดูน้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Tuesday January 31, 2012 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2554/2555 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกภาคกิจกรรม คิดเป็นปริมาตรน้ำรวมกันทั้งสิ้น 31,900 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,768 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 6 ของแผน เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 9,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 31 ของแผน เพื่อการเกษตร 20,160 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 ของแผน และเพื่อการอุตสาหกรรม 172 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 1 ของแผน

โดยคาดว่าจะสามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ประมาณ 19.23 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 16.70 ล้านไร่(ในเขตชลประทาน 10.91 ล้านไร่ นอกเขต 5.79 ล้านไร่) พืชไร่-พืชผัก 2.53 ล้านไร่(ในเขตชลประทาน 0.73 ล้านไร่ นอกเขต 1.80 ล้านไร่)

ปัจจุบัน(ณ 27 ม.ค. 55) มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศไปแล้ว 8.19 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 43 ของแผนทั้งหมด แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 7.28 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 16.70 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.91 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 2.53 ล้านไร่) และมีการนำน้ำไปใช้แล้วทั้งหมด 14,510 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45 ของแผนจัดสรรน้ำ คงเหลือปริมาณที่ใช้ได้ตามแผนประมาณ 17,390 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ จำนวนทั้งสิ้น 13,220 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 8 ของแผน เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,660 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของแผน และเพื่อการเกษตร 8,460 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 64 ของแผน

ปัจจุบันลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 4.85 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนทั้งหมด (แผนกำหนดไว้ 10 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 4.82 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.03 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 0.40 ล้านไร่) และมีการใช้น้ำไปแล้ว 6,714 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มากกว่าแผนที่ตั้งไว้ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร (แผนที่ตั้งไว้ 6,439 ล้านลูกบาศก์เมตร) คงเหลือปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 54/55 อีก 6,506 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีแผนการระบายน้ำ ดังนี้ เดือนกุมภาพันธ์ จำนวน 2,593 ล้านลูกบาศก์เมตร เดือนมีนาคม จำนวน 2,164 ล้านลูกบาศก์เมตร และเดือนเมษายน จำนวน 1,295 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีการระบายน้ำตามแผนดังกล่าว จะทำให้เมื่อสิ้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เขื่อนภูมิพลจะมีปริมาณน้ำเหลือร้อยละ 55 หรือ 7,371 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ จะมีน้ำคงเหลือประมาณร้อยละ 61 หรือ 5,809 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุเทพ กล่าวว่า จากการที่กรมชลประทานได้รับมอบหมายจาก กยน. จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเก็บกักน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ประจำปี 2555 กรมชลประทาน ได้เสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเก็บกักน้ำหลัก และแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ ประจำปี 2555 ซึ่งได้มีการทบทวนเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ รวมทั้ง แผนการระบายน้ำของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอความก้าวหน้าให้ กยน.ทราบ และให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ การปรับแผนดังกล่าว จะทำให้เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ระบายน้ำ ดังนี้ เดือนกุมภาพันธ์ 2,842 ล้านลูกบาศก์เมตร เดือนมีนาคม 3,038 ล้านลูกบาศก์เมตร และเดือนเมษายน 3,090 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้เมื่อสิ้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 6,044 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำคงเหลือร้อยละ 45 หรือ 4,242 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีพื้นที่ว่างในอ่างเก็บน้ำเพียงพอที่จะรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงฤดูน้ำหลากของปีนี้ โดยไม่มีปัญหาน้ำล้นอ่างฯ ลงมาท่วมพื้นที่ด้านท้าย ดังเช่นปี 2554 อย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ