ก.เกษตรฯ เล็งพัฒนาบึงบอระเพ็ดเพิ่มพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำเพิ่ม 4.1 ล้านลบ.ม.

ข่าวทั่วไป Wednesday February 15, 2012 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมประมงได้เสนอโครงการพัฒนาบึงบอระเพ็ด ภายใต้ภัยพิบัติอุทกภัยปี 2554 ให้คณะอนุกรรมการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู ด้านแหล่งน้ำและระบบชลประทาน ภายใต้คณะกรรการให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พิจารณาให้ความเห็นชอบในวงเงิน 212 ล้านบาท ประกอบด้วย การขุดลอกดิน 4.1 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำมากขึ้น และเป็นที่หลบอาศัยและแพร่พันธุ์สัตว์น้ำ พื้นที่ขุดลอก 500 ไร่ ความลึกเฉลี่ย 5 เมตร นอกจากนั้นยังส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์น้ำ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมชุมชน โดยกิจกรรมอาสาอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าวัชพืชที่จัดเก็บ 100,000 ตัน ให้เป็นปุ๋ยหมัก ตลอดจนการติดตามคุณภาพของระบบนิเวศน์และการมีส่วนร่วมของประชาชน

"การพัฒนาบึงบอระเพ็ดนอกจากจะช่วยเพิ่มพื้นที่แก้มลิงให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 4.1 ล้าน ลบ.ม.แล้ว ยังสามารถเพิ่มพื้นที่แหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เกษตรกรใช้ประโยชน์จากปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และเพิ่มมูลค่าของปัจจัยการผลิตได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ตัน อีกทั้งดินที่ได้จากการขุดนำไปทำแนวป้องกันน้ำท่วมในเขตอื่น ๆ และนำไปปรับปรุงเส้นทางของคมนาคมของจังหวัดด้วย” นายธีระ กล่าว

อนึ่ง บึงบอระเพ็ดเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เหมาะต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยในปี 2473 ได้ประกาศเป็นเขตหวงห้าม มีพื้นที่ประมาณ 2 แสนไร่เศษ ต่อมาในปี 2480 ประกาศถอนการหวงห้ามเหลือพื้นที่ 132,737 ไร่ 56 ตารางวา ขณะนี้อยู่ในความดูแลของกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีระดับเก็บกักสูงสุด +24 ม. (รทก.) พื้นที่ประมาณ 97,213 ไร่ ความจุประมาณ 180.29 ล้าน ลบ.ม. และระดับเก็บกักต่ำสุด +23 ม. (รทก.) พื้นที่ประมาณ 39,050 ไร่ ความจุประมาณ 78.76 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสภาพปัญหาของบึงบอระเพ็ด คือ 1) การตื้นเขินของบึงบอระเพ็ด โดยมีตะกอนเข้ามาในบึงประมาณปีละ 2.2 ล้านตัน แต่กรมประมงสามารถขุดลอกได้เพียง 1 ล้านตันต่อปี 2) ความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรสัตว์น้ำ จากปัญหามีวัชพืชน้ำมาก น้ำเสียจากสารเคมีทางการเกษตร และจำนวนทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง 3) การครอบครองพื้นที่ในเขตบึงบอระเพ็ด โดยมีราษฎครอบครองพื้นที่ 70,000 ไร่ ใน 3 อำเภอ จำนวน 5,653 ครัวเรือน ประชากร 22,000 คน และสิ่งก่อสร้างของราชการ 24 หน่วยงาน และ 4) ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในฤดูแล้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ