ก.เกษตรฯ มอบกรมชลฯ-ฝนหลวง เตรียมแผนรับมือฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย.-ก.ค.

ข่าวทั่วไป Friday May 4, 2012 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรได้มีการติดตามสภาพภูมิอากาศ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน และสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งในภาพรวมพบว่า ปริมาณฝนในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย แต่น้อยกว่าในปี 2554 ที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจจะมีฝนทิ้งช่วง เกษตรกรอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง จึงได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม

ขณะเดียวกัน ยังได้มอบหมายให้สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนก.พ. จนถึงปัจจุบันซึ่งมีหน่วยปฏิบัติการทั้งหมด 10 หน่วย กระจายทั่วพื้นที่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ทั้ง 58 จังหวัด 345,550 หมู่บ้าน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน ช่วยเหลือพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกร และเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้อยกว่า 30% ของความจุอ่าง ซึ่งมีจำนวน 8 อ่าง ได้แก่ เขื่อนแควน้อย เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนทับเสลา เขื่อนขุนด่านฯ และเขื่อนปราณบุรี โดยในวันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคมนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดให้มีพิธีเปิดการทำฝนหลวงในช่วงฤดูฝน ณ สนามบินนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ เพื่อเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการอีกด้วย

นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมดขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ56 ของความจุน้ำในเขื่อน หรือ 41,300 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นประมาณน้ำใช้การได้ 17,500 41,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 24 ทั้งนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ความจุเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ50

อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ ให้ความมั่นใจว่าปริมาณน้ำในเขื่อนหลักนั้นยังเพียงพอ ทั้งอุปโภค บริโภค และทำการเกษตรได้หากฝนตกทิ้งช่วง ส่วนพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งนั้น ซึ่งขณะนี้ได้ทำการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ 12 จังหวัดที่ประสบภัย พบว่า ขณะนี้มีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งจำนวน 2,215 ราย พื้นที่ 19,600 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 14,812 ไร่ พืชไร่ 4,769 และ พืชสวนและอื่นๆ อีก 15 ไร่ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหาย และเยียวยาฟื้นฟูเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ