กรมชลฯ ปรับแผนการระบายน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง

ข่าวทั่วไป Friday June 22, 2012 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบว่าในช่วงที่ผ่านมาปริมาณฝนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนลดน้อยลง ทำให้ปริมาณน้ำท่าตามลำน้ำธรรมชาติจากพื้นที่ตอนบนมีแนวโน้มลดลง

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนก็อยู่ในเกณฑ์ที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ยกเว้นในพื้นที่ทุ่งฝั่งตะวันออกที่รับน้ำเข้าพื้นที่ได้น้อยลง เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาเขื่อนเจ้าพระยาต้องช่วยระบายน้ำจากทางตอนบน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือเขื่อนลดระดับลง

ดังนั้น กรมชลประทาน จึงได้แก้ไขปัญหาโดยการยกระดับน้ำเหนือเขื่อนให้สูงขึ้นในระดับ +16.30 เมตร(รทก.) ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 55 ที่ผ่านมา เพื่อให้พื้นที่ด้านทุ่งฝั่งตะวันออก สามารถรับน้ำเข้าพื้นที่ได้ตามเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ การระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีการปรับแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 25 มิ.ย.-1 ก.ค.55 ดังนี้ เขื่อนภูมิพลจะระบายน้ำในอัตราเฉลี่ยวันละประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์จะระบายเฉลี่ยวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจะระบายน้ำในอัตราเฉลี่ยวันละประมาณ 4.32 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะระบายน้ำในอัตราเฉลี่ยวันละประมาณ 2.59 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของลุ่มน้ำแม่กลองได้มีการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนต่างๆ โดยในช่วงวันที่ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. เขื่อนศรีนครินทร์(ผ่านเขื่อนทดน้ำท่าทุ่งนา) และเขื่อนวชิราลงกรณ จะระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแม่กลอง ในอัตราเฉลี่ยวันละประมาณ 14.69 ล้านลูกบาศก์เมตร

อนึ่ง การปรับแผนการระบายน้ำทั้งในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองในครั้งนี้ ได้พิจารณาตามสภาพความเหมาะสมของสภาวะอากาศ และสภาพน้ำท่าในพื้นที่ โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรทั้งสองลุ่มน้ำแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ