นายกฯ พอใจผลทดสอบประสิทธิภาพกำแพงป้องกันน้ำท่วมนิคมฯนวนครแล้วเสร็จก.ย.

ข่าวทั่วไป Friday August 10, 2012 17:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่เขตอุตสาหกรรมนวนครเพื่อดูการทดสอบประสิทธิภาพกำแพงป้องกันน้ำถาวรของบริษัท นวนคร จำกัด(มหาชน) ที่มีความสูง 5.5 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง150 ตันต่อตารางเมตร โดยมีความยาว 20.6 กิโลเมตร รอบพื้นที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งใช้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท เพื่อปกป้องอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และไม่ให้เกิดความเสียหายเหมือนปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และถือเป็นการยืนยันความมุ่งมั่นของผู้บริหาร โดยกำแพงกั้นน้ำบางส่วนสามารถป้องกันน้ำได้ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้ ส่วนการก่อสร้างกำแพงทั้งหมดจะแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ภายในเดือน ก.ย.55

สำหรับการทดสอบครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือ จัดส่งเรือผลักดันน้ำขนาด 2 ลำ มีแรงดันน้ำสูงสุดที่ 37 ปอนด์ต่อตารางนิ้วมาร่วมทดสอบประสิทธิภาพว่ากำแพงถาวรจะสามารถรองรับแรงปะทะ ตลอดจนการกั้นน้ำอย่างมีประสิทธิภาพได้เพียงใด ซึ่งผลการทดสอบกำแพงสามารถรองรับแรงปะทะและกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามจุดประสงค์การดำเนินการก่อสร้าง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้ความร่วมมือและร่วมกันทำงานกับผู้ประกอบการเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการมารับฟังรายงานความคืบหน้าการก่อสร้างและทดสอบประสิทธิภาพกำแพงป้องกันน้ำถาวรในเขตอุตสาหกรรมนวนคร ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ เพราะการเตรียมการรับมือค่อนข้างดี ซึ่งส่งผลดีต่อความมั่นใจของบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในนวนครด้วย รวมไปถึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแนวทางในการป้องกันอุทกภัยอย่างเต็มที่ โดยแบ่งเป็น พื้นที่ต้นน้ำที่เน้นการดูดซับและชะลอน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเน้นการส้รางฝายถาวรและกึ่งถาวร ส่วนพื้นที่กลางน้ำมีการปรับระดับน้ำภายในเขื่อนไม่ให้ไหลทะลักพร้อมขุดลอกคูคลองและดำเนินการพื้นที่แก้มลิงที่มีความคืบหน้าไปมาก และพื้นที่ปลายน้ำที่ถือว่ามีความสำคัญได้เร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล และให้การป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจพร้อมกับเพิ่มการระบายน้ำในแม่น้ำสายหลัก ยกระดับถนนป้องกันน้ำท่วมทั้ง 3 ชั้น คือ ชั้นนอก ชั้นกลาง และชั้นใน ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดที่รัฐบาลได้ดำเนินการและการเตือนภัยมายังนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ