(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยห่วงทั้งน้ำท่วม-ภัยแล้ง แต่หากท่วมแก้ไขยากกว่า

ข่าวทั่วไป Monday August 27, 2012 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ว่า รัฐบาลมีความเป็นห่วงทั้งเรื่องของน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งหากกักเก็บน้ำเกินจำเป็นแล้วเกิดน้ำท่วมจะทำให้แก้ปัญหาได้ยากลำบากกว่า ดังนั้นจึงต้องมีการเก็บน้ำบางส่วนไว้เพื่อป้องในระดับหนึ่ง สำหรับปัญหาภัยแล้งนั้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด ซึ่งได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องลงไปติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ส่วนการเกิดปัญหาน้ำท่วมหนักที่ จ.อุตรดิตถ์ ในขณะนี้นั้น นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำยังไม่มีการบูรณาการ ไม่มีแหล่งน้ำรองรับอย่างยั่งยืน บางพื้นที่อาจเกิดน้ำท่วม ขณะที่บางพื้นที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ทำให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งยอมรับว่าในปีนี้ยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ โดยจะต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง ส่วนจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมได้ทำพนังกั้นน้ำก่อน แต่ในระยะยาวจะต้องทำให้ระบบการระบายให้มีประสิทธิภาพ

สำหรับปริมาณน้ำในปีนี้ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) รายงานว่า ปริมาณน้ำน่าจะน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมีการชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง ทั้งนี้ต้องขอความเห็นใจจากประชาชน เพราะปัญหาเรื่องน้ำได้เกิดขึ้นนานแล้วและเวลามีจำกัด ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการดูแลอย่างเต็มที่

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งควบคู่กัน โดยในการพร่องน้ำได้ดูความสมดุลของการบริหารจัดการน้ำจากภาคการเกษตรและการชลประทาน ขณะที่การระบายน้ำจากเขื่อนก็มีคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญพิจารณาจากข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว

ดังนั้น การที่มีการกล่าวหารัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดจึงไม่เป็นความจริง เพราะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนกลาง รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ภัยแล้งเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เข้าไปดูแล จึงขออย่าสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชน

ทั้งนี้ นายปลอดประสพ ยืนยันด้วยว่า ในปีนี้น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน และในฤดูหนาวและฤดูแล้งในพื้นที่ภาคกลาง จะมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร เพราะเขื่อนต่างๆ ได้เก็บน้ำสำรองไว้แล้ว ขณะที่ภาคอีสานหากฝนตกลงมาน้อยก็จะสูบน้ำจากลำน้ำต่างๆ หรือขุดน้ำจากใต้ดิน มาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้านนายรอยล จิตรดอน คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยการพร่องน้ำออกจากเขื่อนของรัฐบาลมีการทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ