นักวิจัย สธ.เผยเหตุอุทกภัยปลายปี 54 ทำลายเศรษฐกิจเสียหาย 1.425 ล้านลบ.

ข่าวทั่วไป Monday September 3, 2012 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ชี้เหตุอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 ทำลายเศรษฐกิจเสียหาย 1.425 ล้านล้านบาท ส่งผลให้คนตกงานเกือบ 650,000 คน ซึ่งธนาคารโลกจัดให้เป็นความเสียหายอันดับ 4 ของโลก

นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักวิจัย สวรส.กล่าวว่า ความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ส่งผลให้พื้นดินกว่า 36 ล้านไร่จมน้ำ ครอบคลุมตั้งแต่เชียงใหม่จรดกรุงเทพฯ สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน 12 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 815 คน ต้องอพยพผู้ประสบภัยอย่างน้อย 5,388,204 คน คนงานเกือบ 650,000 คนตกงานหรือได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจพินาศ 1.425 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554

นอกจากนี้ สำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ(UNISDR) ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค ได้จัดมหาอุทกภัยครั้งนี้เป็นความเสียหายขั้นหายนะ ขณะที่ธนาคารโลกจัดอันดับความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอันดับ 4 ของโลก ถัดจากสึนามิในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในโกเบ และเฮอริเคนแคทรีน่า ดังนั้นระบบการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในเหตุการณ์มหาอุทกภัยจึงมีบทบาทสำคัญ และถูกคาดหวังให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

ด้าน นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยเมื่อปี 54 สร้างความเสียหายแก่ประเทศและประชาชนจำนวนมาก แม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะได้พยายามอย่างเต็มที่ในการเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว ดังนั้นหลายภาคส่วนจึงให้ความสำคัญกับการถอดบทเรียนเพื่อพลิกวิกฤติเป็นโอกาสพัฒนา โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสุขภาพ อาทิเช่น สำนักบริหารการสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฯลฯ ต่างได้ดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการรับมือกับภัยพิบัติของหน่วยงานนั้นๆ ในโอกาสต่อไป

สวรส. ในฐานะองค์กรบริหารจัดการความรู้ในระบบสุขภาพจึงเห็นว่า บทเรียนที่หน่วยงานต่างๆ สรุปขึ้น เป็นข้อมูลและความรู้ที่มีคุณค่ายิ่ง แต่จะมีประโยชน์มากขึ้น หากได้บูรณาการความรู้ทั้งหมดเข้าด้วยกันเป็นความรู้เชิงระบบเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต โดยมีข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยครั้งนี้ทั้งหมด 5 เรื่อง 1.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้แสดงบทบาทเป็นเจ้าภาพหลักในรับมือกับผลกระทบด้านสุขภาพ และควรพัฒนาบทบาทดังกล่าวให้เข้มแข็งมากขึ้นโดยร่วมมือกับเจ้าภาพส่วนอื่น 2.ควรให้ความสำคัญกับการเตรียมแผน ซ้อมแผน ทบทวนแผนเป็นระยะ

3.ควรพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์และสาธารณสุขยามภัยพิบัติ โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกภาคส่วนทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน 4.ควรหาทำเลจัดตั้งศูนย์อพยพกรณีภัยพิบัติครอบคลุมทั่วประเทศ และเตรียมความพร้อมด้านอื่น อาทิ สวัสดิการต่อชีวิตและทรัพย์สิน สุขาภิบาลอาหารและสิ่งแวดล้อม บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กิจกรรมทางศาสนา กิจกรรมนันทนาการ 5.ควรเสริมสร้างทักษะการเตรียมความพร้อมแก่ประชาชน อาทิ ความรู้ในการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ความรู้ในการติดต่อขอความช่วยเหลือ และทักษะการเอาชีวิตรอด เช่น การว่ายน้ำ การปีนต้นไม้ เป็นต้น

ขณะที่ น.ส.รัจนา เนตรแสงทิพย์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค.54 ประเทศไทยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมถึง 61จังหวัด ในจำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมถึง 3.9 ล้านครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 19 ของครัวเรือนทั้งประเทศ และมีสมาชิกในครัวเรือน 12.9 ล้านคน หรือร้อยละ 19.6 ของประชากรทั่วประเทศ รวมถึงพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมร้อยละ 51.1 ว่ายน้ำไม่เป็น และเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ว่ายน้ำได้น้อยมาก ส่วนจำนวนผู้ที่ว่ายน้ำได้มีเพียงร้อยละ 18.6 เท่านั้น

นอกจากนี้ ในภาคแรงงานส่งผลให้มีการตกงานเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในทุกภาคลดลงจากในช่วงก่อนน้ำท่วมประมาณร้อยละ 10 ส่วนการเข้าถึงบริการสุขภาพพบว่า ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมมีสมาชิกได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากน้ำท่วมร้อยละ 8.1 ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 0.3 มีสาเหตุมาจากไฟฟ้าดูด/ช๊อต เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่าข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับการวางแผนรับมือและเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ