กทม.แจงเหตุใช้เวลาระบายน้ำมากขึ้นจากปัญหาดินทรุดและฝนตกเกิน 60 มม.

ข่าวทั่วไป Wednesday September 19, 2012 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) กล่าวถึงการระบายน้ำในพื้นที่ กทม.กรณีเกิดฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ในระยะนี้ว่า ช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด โดยวานนี้(18 ก.ย.) มีน้ำท่วมขังในกรุงเทพฯ 29 จุด แต่สามารถระบายน้ำให้แห้งปกติได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง เช่น บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า บริเวณถนนศรีอยุธยา และบริเวณใต้ทางด่วนถนนพระรามที่ 6 แต่บางจุดอาจต้องใช้ระยะเวลามากกว่า 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและลักษณะของพื้นที่ ส่วนการจราจรติดขัดในช่วงที่ฝนตกนั้นเกิดจากฝนตกหนักในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ยานพาหนะเคลื่อนตัวช้าเพราะต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า ระบบระบายน้ำของ กทม.ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ทั้งประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ อีกทั้งได้ลอกท่อระบายน้ำในกรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 54 คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 97 และพร่องน้ำในคลองทุกสายเพื่อให้พร้อมรับน้ำฝนอย่างเต็มที่

"ระบบระบายน้ำของ กทม.สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไม่เกิน 60 มิลลิเมตร หากปริมาณฝนมากกว่า 60 มิลลิเมตร จะต้องใช้ระยะเวลาในการระบายน้ำเพิ่มขึ้น" นายวัลลภ กล่าว

ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีใบไม้ ขยะ และเศษพลาสติกอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำฝนและปิดทางระบายน้ำ โดยกทม.ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะบริเวณหน้าตะแกรง เพื่อให้น้ำไหลลงท่อสะดวกขึ้น ในส่วนของน้ำเหนือขณะนี้ยังไม่มีปัญหา แต่หากมีระบายน้ำจากทางเหนือ กทม.ได้ประสานงานกับรัฐบาลและกรมชลประทานให้มีการระบายน้ำออกทางด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ผ่านคลองระพีพัฒน์ และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ออกสู่บางปะกง และด้านตะวันตกผ่านแม่น้ำท่าจีน

ด้านนายจุมพล สำเภาพล รองปลัด กทม.กล่าวถึงปัญหาการระบายน้ำฝนว่า เกิดจากการทรุดตัวของดินทำให้ปากท่อระบายน้ำไม่อยู่ในแนวการไหลของน้ำและเกิดภาวะน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการระบายน้ำในกรุงเทพฯ ทำได้ช้าทั้งที่มีการขุดลอกท่อระบายน้ำและคูคลองไปแล้วว่า กทม.ตั้งอยู่บนดินที่อ่อน และเป็นที่ราบลุ่ม จึงมีการทรุดตัวของพื้นที่เฉลี่ย 1-10 ซม.ต่อปีขึ้นอยู่กับพื้นที่ อีกทั้งการระบายน้ำของ กทม.ใช้หลักธรรมชาติของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ซึ่งจากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้มีแต่ละครั้งมีปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ 100-130 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 15-20 ซม. ขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับน้ำในคลองเพิ่มสูงขึ้นและน้ำบนผิวถนนไหลสู่ท่อระบายน้ำได้ช้า แม้จะมีการพร่องน้ำในคลองแล้วก็ตาม ทั้งนี้จากปัญหาดังกล่าว กทม.จะทำการฟื้นฟูคลองให้มีประสิทธิภาพในการรับน้ำเพิ่มขึ้นและทำน้ำไหลได้เร็วขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคลองมีความลาดเอียงน้อยทำให้การไหลของน้ำเป็นไปอย่างช้าๆ

สำหรับข้อแนะนำของนายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.ที่เสนอให้ปรับปรุงหรือเปลี่ยนท่อระบายน้ำนั้น รองปลัด กทม. กล่าวว่า จะต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลหากจะเปลี่ยนท่อระบายน้ำทั้งหมด ดังนั้นอาจจะเลือกเฉพาะบางจุดที่ส่งผลกระทบมากเท่านั้น เนื่องจากในอดีต การวางท่อระบายน้ำใน กทม.จะมีรอยต่อเยอะ เมื่อเกิดการทรุดตัวของชั้นดินก็ทำให้ท่อทรุดตามไปด้วยและมีลักษณะเป็นลูกคลื่นทำให้น้ำไหลได้ไม่สะดวก

"การระบายน้ำฝนมีหลายปัจจัยที่ต้องช่วยกัน และต้องไม่ลืมว่ากรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ต่ำ โอกาสที่น้ำท่วมขังจึงมีได้ แต่ กทม.จะหาวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนมากที่สุด" นายจุมพล กล่าว

แท็ก น้ำท่วม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ