ปภ.ตั้งศูนย์EOCเฝ้า30 จว.เสี่ยงพายุ"แกมี" ดูแลรง.นิคมฯ-แหล่งท่องเที่ยว

ข่าวทั่วไป Saturday October 6, 2012 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กำชับจังหวัดที่อยู่ในแนวเคลื่อนตัวพายุแกมีเพิ่มความเข้มข้นเตรียมพร้อมรับมือ ย้ำจังหวัดที่ตั้งโรงงานและนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สื่อสารและให้ข้อมูลสถานการณ์ในลักษณะแจ้งเตือนล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยที่อาจรุนแรงมากขึ้น

พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน (EOC) พร้อมย้ำ 30 จังหวัดเสี่ยงภัยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุและปฏิบัติการภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 รวมทั้งวางระบบสื่อสารหลัก-รองที่ติดต่อได้ตลอดเวลา ตลอดจนเตรียมรองรับการปฏิบัติการ หากมีการยกระดับสถานการณ์ภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ผู้ว่าราชการจังหวัดในการเตรียมความพร้อมรับมืออิทธิพลพายุโซนร้อนแกมี ว่า ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดการน้ำ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ประสานข้อมูลการเคลื่อนตัวพายุแกมีว่า มีแนวโน้มที่พายุอาจเปลี่ยนทิศทางจากเดิมขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนาม เป็นการเคลื่อนตัวลงต่ำผ่านประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่มีแนวภูเขาขวางกั้นที่ทำให้พายุอ่อนกำลังลง จึงส่งให้พายุอาจมีกำลังรุนแรงมากขึ้น

โดยคาดว่าพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง และชลบุรี ซึ่งเป็นจุดที่มีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่แล้ว หากมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มจะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จากนั้นคาดว่าพายุแกมีจะเคลื่อนตัวออกอ่าวไทยและขึ้นฝั่งทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีภาวะฝนตกหนัก คลื่นลมแรง คลื่นในทะเลสูง 1 — 3 เมตร

นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยปฏิบัติที่ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและข้อสั่งการจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้กำชับให้จังหวัดที่คาดว่าจะอยู่ในแนวเคลื่อนตัวและได้รับผลกระทบจากพายุแกมี เพิ่มความเข้มข้นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการ ปภ. ให้ประสานจังหวัดที่เป็นที่ตั้งฐานการผลิต โรงงาน และนิคมอุตสาหกรรม แจ้งผู้ประกอบการทราบถึงสถานการณ์และการพยากรณ์ของกรมอุตุฯ และ กบอ. ในลักษณะการแจ้งเตือนล่วงหน้า (Early warning) และชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือและสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน รวมถึงได้เน้นย้ำจังหวัด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ทั้งน้ำตก ทะเล เกาะ แจ้งผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติฯ ทราบถึงสถานการณ์และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเลควรติดตามพยากรณ์อากาศและคำแนะนำอย่างใกล้ชิด ส่วนนักท่องเที่ยวขอให้เพิ่มความระมัดระวัง ติดตามและปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายฉัตรชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผลกระทบจากอิทธิพลของพายุแกมี ได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในฐานะหน่วยปฏิบัติที่ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและข้อสั่งการจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน (Emergency Operation Center : EOC) ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงนโยบายและข้อสั่งการของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่และบูรณาการการเตรียมความพร้อมรับมือ พร้อมทั้งประสาน 30 จังหวัดเสี่ยงภัย จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้าระดับจังหวัด อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เน้นย้ำให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุและปฏิบัติการภายใต้พระราชบัญญัติ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และพร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนวางระบบสื่อสารหลักและระบบสื่อสารสำรองที่มีประสิทธิภาพและสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์ภัย เพื่อความคล่องตัวในการประสานการดำเนินการ

นอกจากนี้ ให้เตรียมรองรับการปฏิบัติการกรณีสถานการณ์ภัยรุนแรง หากมการยกระดับสถานการณ์ภัยเป็นระดับ 3 — 4 นายกรัฐมนตรีจะมาบัญชาการเหตุการณ์ด้วยตนเอง ณ ศูนย์ปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นไปตามการบริหารจัดการสาธารณภัย ในรูปแบบ Single Command ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ทุกภาคส่วนบูรณาการประสานการปฏิบัติ ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทุกพื้นที่ เพื่อให้การบริหารจัดการภัยในภาวะฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ และสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ