เกษตรฯ แจงแผนจัดสรรน้ำ-เพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 55/56, ภาคอีสานงดทำนาปรัง

ข่าวทั่วไป Thursday November 15, 2012 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้กำหนดแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2555/2556 เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำสำหรับทุกภาคกิจกรรมในเขตพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาตรน้ำรวมกันทั้งสิ้น 23,570 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าปริมาณน้ำดังกล่าว จะสามารถสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศได้ประมาณ 16.62 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรัง 13.99 ล้านไร่ (แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 8.44 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 5.55 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 2.63 ล้านไร่ (แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 0.63 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่)

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งปีนี้พบว่าปริมาณน้ำฝนปี 2555 ทั้งประเทศลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 18 โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณฝนลดลงถึงร้อยละ 29 ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ 55,268 ล้านลูกบาศก์เมตร ตลอดจนสภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยมาก ซึ่งจากสถานการณ์น้ำต้นทุนที่ลดลงดังกล่าวทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวนาปรังได้ในบางพื้นที่ จึงได้มีประกาศแจ้งให้งดเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ที่ใช้น้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน-ลำแซะ ที่ใช้น้ำจากเขื่อนมูลบน — ลำแซะ จ.นครราชสีมา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง ที่ใช้น้ำจากเขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ส่วนโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง ที่ใช้น้ำจากเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา นั้น ให้งดการทำนาปรัง แต่สามารถให้เพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยได้ ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำที่ใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การผลิตน้ำประปา และการรักษาระบบนิเวศน์นั้น ได้มีการวางแผนจัดสรรน้ำไว้แล้ว โดยไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด นอกจากนี้ พื้นที่ภาคใต้ตอนบน ในเขตของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งใช้น้ำจากเขื่อนปราณบุรี ได้มีการประกาศให้งดการทำนาปรังเช่นกัน เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างฯ มีอยู่ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม ได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรหาอาชีพทดแทนให้เกษตรกรมีรายได้ อาทิ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ การเพาะเห็ด และกรมชลประทานได้จัดเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องสูบน้ำไว้ทั่วประเทศ รวม 1,595 เครื่อง และรถยนต์บรรทุกน้ำอีกจำนวน 295 คัน ที่พร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนตลอดในช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 นี้ นายชวลิต กล่าวอีกว่า สำหรับในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมารวม 23 จังหวัด ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จำนวนทั้งสิ้น 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะนำน้ำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แห่งละ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาไว้รวมกันประมาณ 9.60 ล้านไร่ ประกอบด้วย ข้าวนาปรังประมาณ 9.17 ล้านไร่ พืชไร่-พืชผัก ประมาณ 0.43 ล้านไร่ "กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2555/2556 ในด้านการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง และให้มีน้ำสำรองไว้สำหรับการเพาะปลูกพืชในฤดูฝนและฤดูแล้งปีถัดไป โดยให้ความสำคัญเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา รองลงมาคือ เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ เพื่อการเกษตรกรรมและเพื่อการอุตสาหกรรม สำหรับการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรนั้นจะให้ความสำคัญกับพื้นที่เกษตรกรรมที่ได้รับความเสียหายจากฤดูนาปี และพื้นที่ประสบอุทกภัย รองลงมาคือพื้นที่เกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย เช่น การปลูกพืชไร่-พืชผัก เพื่อให้การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและการจัดสรรน้ำปี 2555/2556 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่กำหนด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น” นายชวลิต กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ