คณะครูและผู้ปกครอง รร.อัสสัมชัญ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ รมว.ศึกษาธิการ

ข่าวทั่วไป Friday January 25, 2013 15:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียนจากคณะครูผู้ปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญและโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม ที่ขอความเป็นธรรมกรณีผู้บริหารโรงเรียนทั้งสองสั่งปิดโรงเรียนเพื่อดำเนินการควบรวม และไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทราบ รวมทั้งขอให้ดำเนินการตรวจสอบผู้รับใบอนุญาตถึงปัญหาการไม่ปรับฐานเงินเดือนครู และตัดค่าวิชาชีพ/ค่าครองชีพของครู พร้อมทั้งขอให้เปิดโรงเรียนก่อนวันที่ 1 ก.พ.56 เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ว่า ขณะนี้ได้รับทราบถึงการดำเนินการเพื่อควบรวมโรงเรียนอัสสัมชัญ แต่ไม่ได้มีการยุบ เพราะฝ่ายประถมก็ยังเรียนอยู่ที่ประถม ฝ่ายมัธยมก็ยังเรียนที่มัธยม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการเสนอเรื่อง

ส่วนเหตุการณ์ที่มีการประกาศปิดโรงเรียนเมื่อช่วงเช้าวันนี้ไม่ทราบว่าเกี่ยวพันกับแนวคิดที่จะควบรวมโรงเรียนหรือไม่ ซึ่งได้ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปติดต่อกับผู้บริหารโรงเรียนเกี่ยวกับการปิดโรงเรียนกะทันหัน

"จากการรับฟังข้อมูลจากครูและผู้ปกครองที่เดินทางมาพบก็ได้รับทราบว่าการปิดโรงเรียนเป็นเรื่องที่กะทันหันมาก อย่างไรก็ตามต้องรอฟังผลการหารือกับทางโรงเรียนถึงเหตุผลการดำเนินการดังกล่าว หากโรงเรียนไม่มีเหตุผลเพียงพอ สช.ก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการให้โรงเรียนจัดการ เรียนการสอนตามปกติเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อนักเรียน"นายพงศ์เทพ กล่าว

กรณีการพิจารณาควบรวมโรงเรียน ศธ.จะสั่งให้ชะลอไว้ก่อนหรือไม่ เพราะอาจจะเกิดเหตุวุ่นวายมากขึ้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ต้องพิจารณาก่อนว่าทั้ง 2 เรื่องเกี่ยวพันกันหรือไม่ เพราะเรื่องของการควบรวมโรงเรียนก็ได้มีผู้ปกครองมายื่นข้อเสนอพร้อมเหตุผลโต้แย้งการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว ซึ่งบางส่วนมีความคิดเห็นว่าเมื่อควบรวมแล้วอาจจะเกิดความไม่สะดวก ซึ่งตนเองคิดว่าจะมีวิธีบริหารจัดการให้เกิดความสะดวกได้ เช่น เอกสารหลักฐานของนักเรียนที่จบไปแล้ว จะต้องดำเนินการขอจาก สช.แทนการขอที่โรงเรียน เป็นต้น

สำหรับการเรียกร้องการปรับฐานเงินเดือนนั้น รมว.ศธ.กล่าวว่า ศธ.ให้การสนับสนุนโรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ในส่วนของการอุดหนุนเป็น 15,000 บาท กติกาก็คือ รัฐออกครึ่งหนึ่ง โรงเรียนออกอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลดำเนินการเช่นนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนทุกโรง โดยโรงเรียนต้องบริหารจัดการตามที่ได้ตกลงกัน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับครู


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ