กบอ.ออกมาตรการระยะสั้น-ยาว รับมือภัยแล้ง ตั้งแต่ 15 ก.พ.-15พ.ค.

ข่าวทั่วไป Friday February 15, 2013 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวหลังเสร็จการประชุมหารือการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้ง 2556 ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพราะเป็นความอยู่รอดของประชาชน ซึ่งในช่วง 90 วันนี้รัฐบาลมีความเป็นห่วงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขาดแคลนน้ำ รัฐบาลจึงมีมาตรการระยะสั้นและระยะยาวที่จะดำเนินการในช่วง 90 วัน ระวังอันตรายด้านภัยแล้ง ตั้งแต่ 15 กุมภาพันธ์ถึง 15 พฤษภาคมนี้

โดยมาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย 1.การหาภาชนะกักเก็บน้ำ โดยจะมีการยืมถังน้ำขนาดใหญ่เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันจากหน่วยงานราชการ เช่น กรมประมง มาใช้ทันที และจะมีการซื้อเพิ่มอีกจำนวนมากทันที เพื่อให้ 20,000 กว่าหมู่บ้านที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในขณะนี้ได้มีภาชนะบรรจุน้ำกลางประจำหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากจะทำด้วยไฟเบอร์กลาส

2.การจัดเตรียมคลังเครื่องมือหรือ Depot ขึ้น โดยบางพื้นที่อาจเป็นระดับจังหวัด บางพื้นที่อาจเป็นระดับอำเภอหรือหมู่บ้านก็ได้ ซึ่งจะมีเครื่องมือเครื่องใช้ของทางราชการทั้งหมด เช่น รถบรรทุกน้ำ รถสูบน้ำ มารวมกัน และให้อำนาจฝ่ายปกครองบริหารจัดการใช้ ซึ่งรถเหล่านี้มีหน้าที่ขนน้ำจากแหล่งน้ำ แล้วนำน้ำไปส่งในถังเก็บน้ำของหมู่บ้าน โดยจะมีรถ 2 ประเภท คือ รถของทางราชการกับรถเช่าของเอกชน โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าเช่ารถ ค่าจ้างคนขับรถและผู้ช่วย และค่าเติมน้ำมันที่ปั๊ม ปตท. ให้ ทั้งนี้ รัฐบาลยินดีรับการสนับสนุนจากองค์กรเอกชนทั้งหลายที่จะสนับสนุนรถบรรทุกน้ำเพิ่มเติมให้

3.การเจาะบ่อบาดาล บ่อน้ำตื้นจำนวน 10,000 บ่อขึ้นเพื่อนำน้ำมาไว้ในถังรวม ให้ประชาชนมาตักน้ำไปใช้ 4.จะมีการจ้างประชาชนที่อยู่ในพื้นที่การเกษตรเดิม ที่ขณะนี้ไม่มีรายได้เพราะไม่สามารถทำการเกษตรได้ เพราะประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มาทำงานใด ๆ เช่น การขุดลอกคูคลอง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้

สำหรับมาตรการระยะยาว ประกอบด้วย 1.ให้ กบอ.ทำงานทั้งในเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง และภัยต่าง ๆ ควบคู่กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.ในทุกเรื่อง ในลักษณะ Single Command 2.ให้มีการวางแผนเรื่องน้ำใหม่ โดยให้เอาน้ำเป็นที่ตั้งว่าน้ำมาจากไหน มีจำนวนเท่าไร ผู้ที่ต้องการใช้น้ำ สถานที่ของผู้ใช้น้ำ มีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งน้ำกินน้ำใช้หรือน้ำเพื่อการเกษตร ไม่ให้เป็นต่างคนต่างคิด ซึ่งเรื่องนี้ กบอ. ก็ดำเนินการอยู่ในขณะนี้

3. ให้ดูโซนนิ่งสถานที่ทำการเกษตรของประเทศ โดยดำเนินการในแนวคิดอย่าฝืนธรรมชาติ จะมีการปรับพื้นที่ ปรับเวลาการทำการเกษตรใหม่ โดยให้ปลูกพืชที่เหมาะกับพื้นที่นั้นๆ เหมาะสมกับเวลานั้นๆ เช่น ไม่ปลูกในฤดูแล้ง หรือไม่ปลูกในฤดูน้ำท่วม รวมทั้งให้เหมาะสมกับการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ ตนจะเป็นผู้รับผิดชอบเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน มาจัดปฏิทินและสถานที่ปลูกพืชใหม่ของประเทศไทย

ทั้งนี้ บนหลักการคำว่าโซนนิ่งที่รัฐบาลจะประกาศไม่ใช่การห้าม แต่โซนนิ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมที่หากใครอยู่ในพื้นที่ส่งเสริมก็จะได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐบาลเต็มที่ เป็นการให้ทางเลือกใหม่ที่เหมาะสมกว่าเดิมที่จะมีประสิทธิภาพกว่าเดิม โดยถ้าประชาชนเชื่อในระบบโซนนิ่งทั้งเวลาและสถานที่ก็จะทำให้การปลูกพืช เช่น ข้าว มีประสิทธิภาพ แม่นยำ

นายปลอดประสพ กล่าวถึงเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งว่า ในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งรอบแรกรัฐบาลได้ดำเนินการมาตลอดในช่วง 6 เดือน ใช้งบประมาณไป 700 กว่าล้านบาท ครั้งนี้เป็นการกำหนดมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 2 สำหรับนโยบายการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือภัยแล้งในช่วงวิกฤต 90 วัน ที่บางแห่งมีวิกฤตมาก มีความจำเป็นต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ และต่อไปนี้จะมีการจัดระบบสื่อสาร ระบบเว็บไซต์เฉพาะเรื่องน้ำแล้ง ที่จะทำให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำแล้งทั้งหมด ทั้งพื้นที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง การให้ความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่ให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคขาดแคลนเป็นอันขาด จะต้องขนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคไปให้กับประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล และตนมีแนวคิดด้วยว่าอาจจะมีการใช้รถไฟวิ่งขนส่งน้ำไปให้ประชาชนในเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่านและมีประชาชนที่ขาดแคลนน้ำ หากที่ใดรถยนต์เข้าไปส่งน้ำได้ก็ใช้รถยนต์บรรทุกน้ำ โดยจะทำทุกอย่างเพื่อมีน้ำให้กับประชาชน ทั้งนี้ จังหวัดต่างๆ จะกลับไปทบทวนตามนโยบายที่นายกรัฐมนตรีได้มอบไว้ แล้วนำสรุปตัวเลขงบประมาณในวันที่ 18 ก.พ.เพื่อตนจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ. ยังได้กล่าวถึงการพยากรณ์ฝนว่า ประเทศไทยจะเริ่มมีฝนตกในช่วงกลางเดือนเมษายน โดยจะมีฝนใหญ่ในเดือนพฤษภาคม และประเทศไทยตามโมเดลทางคณิตศาสตร์ 90 ปีจากนี้ ในทุกรอบ 30 ปีประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำมากขึ้น ต้องระวัง ซึ่งปัญหาแล้งจะลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ