สธ.ส่งทีมแพทย์ดูแล-ฟื้นฟูผู้ประสบภัยเหตุเพลิงไหม้ศูนย์พักพิงบ้านแม่สุริน

ข่าวทั่วไป Wednesday March 27, 2013 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ประสบภัยจากเหตุเพลิงไหม้ศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่สุริน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอนว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พร้อมยา เวชภัณฑ์ ซึ่งให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยทั่วไป และผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต พร้อมทั้งดูแลด้านความสะอาดของสุขาภิบาลอาหารและน้ำ การเฝ้าระวังโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้น ร่วมกับองค์กรสุขภาพต่างประเทศที่ศูนย์พักพิงฯ ทุกวัน

ผลการให้บริการของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของหน่วยงานสาธารณสุขตลอด 5 วัน ตั้งแต่ 22 -26 มีนาคม 2556 พบผู้เจ็บป่วยทั่วไป 190 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ปวดเมื่อย ทำแผลวันละประมาณ 10 ราย ไม่มีบาดแผลติดเชื้อ ไม่มีโรคระบาด

ผลการดูแลด้านสุขภาพจิต หน่วยจิตแพทย์ เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจคัดกรองผู้ประสบภัย และกลุ่มที่สูญเสียญาติไปแล้วรวมกว่า 1,215 คน ผลปรากฏว่าพบผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตรวมทั้งหมด 55 ราย ประกอบด้วยผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่ขึ้นทะเบียนรักษาและต้องกินยาต่อเนื่อง 18 ราย ซึ่งกลุ่มนี้ยาถูกไฟไหม้ทั้งหมด และพบผู้มีปัญหารายใหม่ 37 ราย ส่วนใหญ่มีอาการนอนไม่หลับ กังวล เครียด ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 2 รายต้องเฝ้าระวังใกล้ชิดจากอาการซึมเศร้า 1 ราย และมีความคิดฆ่าตัวตาย 1 ราย ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นแกนหลักในการวางแผนดูแลสุขภาพประชาชนร่วมกับองค์กรสุขภาพต่างประเทศอย่างใกล้ชิด

ทางด้าน นพ.ไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีผู้บาดเจ็บนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมดรวม 8 ราย ทุกรายมีบาดแผลถูกไฟไหม้ตามร่างกายและอาการดีขึ้น โดยอยู่ในโรงพยาบาลมหาราชจังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ 2 ราย และโรงพยาบาลขุนยวม 5 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเท่าเดิมคือ 37 ราย ซึ่งร้อยละ 40 อยู่ในกลุ่มอายุ 11-25 ปี

สำหรับการดูแลฟื้นฟูสุขภาพจิตแก่ผู้ประสบภัยต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ได้วางแผนระบบการดูแลติดตาม 2 กลุ่ม คือ ในกลุ่มผู้ใหญ่จะทำการประเมินสุขภาพจิตครบ 7 วันในวันเสาร์ที่จะถึงนี้ โดยจะติดตามในกลุ่มผู้ป่วย 55 รายและผู้ประสบภัยทั้งหมดที่มี 2,204 คน เพื่อค้นหา ให้การดูแลอย่างเร็วที่สุด และติดตามเมื่อครบ 3 เดือน 6 เดือน ส่วนในกลุ่มเด็กซึ่งมีประมาณร้อยละ 40 ของประชากรในศูนย์พักพิง ในอีก 2 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่กำพร้าสูญเสียพ่อหรือแม่ไป อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพจิตดำเนินการได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากในการให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ต้องสื่อสารผ่านทางล่าม ประกอบกับกลุ่มเป้าหมายมีการเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้เวลานานกว่าปกติทั่วไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ