สธ.เตรียมพร้อมรับมือดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ-ป่วยฉุกเฉินช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Tuesday April 9, 2013 14:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง เตรียมพร้อมรับมือดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ และป่วยฉุกเฉิน ทั้งกำลังแพทย์พยาบาล รถพยาบาลฉุกเฉิน ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ไอซียู คลังเลือด ในช่วง 5 วันเทศกาลสงกรานต์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยตั้งเป้าลดการเสียชีวิตหรือพิการให้น้อยที่สุด พร้อมทั้งคุมเข้มการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 เรื่องหลัก ทั้งเวลา อายุต้องห้าม และสถานที่ห้ามดื่มห้ามขาย ฝ่าฝืนลงโทษเด้ดขาดไม่ละเว้น

"ในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดการเสียชีวิตและป้องกันความพิการจากอุบัติเหตุจรให้มีน้อยที่สุด โดยเน้นหนัก 2 มาตรการหลัก ได้แก่ การรักษาพยาบาล และการควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหาเมาแล้วขับ ลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปริมาณการใช้รถใช้ถนนจะมาก เพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าช่วงปกติ 2 เท่าตัว" นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข กล่าว

รมช.สาธารณสุช กล่าวว่า ในด้านการรักษาพยาบาลได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับที่มีกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ เตรียมกำลังทีมแพทย์ แพทย์เฉพาะทางด้านอุบัติเหตุ ด้านศัลยกรรม พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ทั้งประจำการที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะความพร้อมที่ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู สำรองคลังเลือดทุกหมู่ พร้อมให้การรักษาผู้บาดเจ็บตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมทีมแพทย์ฉุกเฉินหรือหน่วยกู้ชีพ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 12,691 ทีม ครอบคลุมถึงระดับหมู่บ้าน มีบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินร่วมปฏิบัติงาน 122,945 คน มีรถพยาบาลกู้ชีพและกู้ภัยฉุกเฉิน 14,189 คัน

"มีเบอร์โทรศัพท์สายด่วนให้ประชาชนโทรแจ้งขอความช่วยเหลือ 1669 ซึ่งมีครอบคลุมทั่วประเทศฟรี หลังวางโทรศัพท์หน่วยปฏิบัติการจะเดินทางไปถึงจุดเกิดเหตุให้ได้ภายใน 10 นาที เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดความพิการและเสียชีวิตให้เหลือน้อยที่สุด และทุกโรงพยาบาลจะปฏิบัติดูแลรักษาประชาชนทุกสิทธิการรักษา ภายใต้นโยบายรัฐบาล “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถูกถามสิทธิ์ รักษาทันที ทุกที่ทุกคน" โดยใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ผู้บาดเจ็บทุกสิทธิการรักษา สามารถเข้ารับบริการในโรงพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชน จนกว่าอาการทุเลา กลับบ้านได้" นพ.ชลน่าน กล่าว

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการลดความเสี่ยงป้องกันปัญหาอุบัติเหตุจราจรจากเมาแล้วขับ ในปีนี้จะเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับคือ 1.พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะการขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ขายในสถานที่ห้ามขาย เช่นปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ และในเวลาห้ามขาย รวมทั้งการเร่ขาย การโฆษณาลด แลก แจก แถม พบฝ่าฝืนมีโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่กรณี และ 2.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นกฎหมายลูก เรื่องห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับรถ หรือโดยสารในรถ หรือบนรถ หากพบฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีโทษจำคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ได้สั่งการให้สถานบริการในสังกัดทั่วประเทศ จัดเจ้าหน้าที่และ อสม.รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ให้บริการที่จุดตรวจ/จุดบริการประชาชนในพื้นที่ และให้โรงพยาบาลที่ตั้งอยู่บนเส้นทางหลวง ที่มีประมาณ 200 แห่ง จัดหน่วยกู้ชีพประจำจุดที่มีความเสี่ยง ทำงานร่วมกับมูลนิธิต่างๆในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้บาดเจ็บในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 55 พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3,215 ครั้งในปี 54 เหลือ 3,129 ครั้งในปี 55 ส่วนผู้บาดเจ็บลดจาก 3,476 รายเหลือ 3,320 ราย แต่จำนวนผู้เสียชีวิตยังไม่ลด โดยเพิ่มขึ้นจาก 271 รายเป็น 320 รายในปีเดียวกัน ซึ่งร้อยละ 60 เป็นผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากที่สุด เกือบทั้งหมดไม่สวมหมวกนิรภัยและดื่มเหล้าด้วย ร้อยละ 46 อีกทั้งผู้เสียชีวิตร้อยละ 20 เป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังเป็นผู้เสียชีวิตจากการใช้รถปิกอัพ โดยเฉพาะการขนคนไปเล่นสงกรานต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 17 ในปี 55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ