In Focusตามติดเลือกตั้งเวเนซูเอลากับอนาคตประเทศในวันที่ไร้เงา “ชาเวซ"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 10, 2013 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ อดีตผู้นำ 4 สมัยของเวเนซูเอลา ได้พ่ายแพ้แก่โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตเขาไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เวเนซูเอลาตกอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอน ทั่วโลกต่างจ้องมองไปที่เวเนซูเอลาด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยหลากหลายคำถาม

ใครจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป?

หลังจากที่สูญเสียผู้นำของประเทศ คำถามแรกๆที่เกิดขึ้นก็คงจะหนีไม่พ้นประเด็นเกี่ยวกับผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป ภายใต้รัฐธรรมนูญของเวเนซูเอลานั้น หากผู้นำของประเทศถึงแก่อสัญกรรม จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 30 วัน ท่ามกลางกระแสคาดการณ์ที่ว่ารองประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ซึ่งทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเลือกเป็นผู้นำประเทศ เนื่องจากก่อนหน้าที่อดีตปธน.ชาเวซจะเดินทางไปรักษาตัวที่คิวบานั้น ชาเวซได้แต่งตั้งให้นายมาดูโรเป็นทายาททางการเมือง ในกรณีที่เขาไม่สามารถจะบริหารประเทศได้

บทบาทของประธานาธิบดีในระบอบการเมืองจะเป็นอย่างไร?

เวเนซูเอลาปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีของเวเนซูเอลาจะเป็นทั้งผู้นำของประเทศและของรัฐบาล และเป็นผู้ที่ใช้อำนาจบริหาร ประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งและมีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และอาจจะได้รับการเลือกตั้งใหม่ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง นอกจากนี้ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานาธิบดีและตัดสินใจเกี่ยวกับขนาดและคุณสมบัติของคณะรัฐมนตรี

แม้ลมหายใจของอดีตปธน.ชาเวซจะหมดลง แต่ประเทศเวเนซูเอลายังต้องเดินหน้าต่อไป โดยหลังจากการถึงแก่อสัญกรรมของชาเวซได้ไม่กี่วัน สภาเลือกตั้งแห่งชาติของเวเนซูเอลาประกาศภายหลังการประชุมนัดพิเศษของคณะกรรมการบริหารว่า จะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 14 เม.ย. ขณะที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะจัดขึ้นเป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-11 เม.ย. โดยผู้สมัครแต่ละรายจะมีเวลา 4 นาทีสำหรับการหาเสียงทางโทรทัศน์ และ 5 นาทีทางสถานีวิทยุ

นางทิบิเซย์ ลูเซน่า ประธานคณะกรรมการสภาเลือกตั้งกล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สามารถรับประกันได้ถึงความแข็งแกร่งของระบบการเลือกตั้ง และกระบวนการทั้งหมด รวมถึงรับประกันอำนาจอธิปไตยของประชาชนผ่านการลงคะแนนเสียง

การเลือกตั้งของเวเนซูเอลาที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ นับเป็นการชิงชัยของ 2 ผู้สมัครที่สำคัญ นั่นก็คือนายนิโคลาส มาดูโร รองประธานาธิบดีที่ก้าวขึ้นมาเป็นรักษาการประธานาธิบดีของเวเนซูเอลา และนายเอนริเก้ คาปริเลส ราดอนสกี้ ผู้สมัครชิงตำแหน่งจากพรรคฝ่ายค้าน ที่เพิ่งพ่ายแพ้แก่นายชาเวซในการเลือกตั้งที่มีขึ้นในช่วงปลายปีที่แล้ว

นิโคลาส มาดูโร

นายนิโคลาส มาดูโร วัย 50 ปี เกิดเมื่อปี 2505 จากครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงคาราคัส เขาเคยทำงานเป็นคนขับรถโดยสารและเป็นผู้นำสหภาพ โดยความสัมพันธ์ระหว่างนายมาดูโรและอดีตปธน.ชาเวซได้เริ่มขึ้นเมื่อนายมาดูโรมีส่วนสำคัญในการช่วยให้อดีตปธน.ชาเวซได้รับอิสรภาพจากความล้มเหลวในการก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มนายคาร์ลอส อันเดรส เปเรซ ประธานาธิบดีเวเนซูเอลาเมื่อปี 2535

นายมาดูโรได้รับเลือกให้เข้าสู่สมัชชาแห่งชาติในปี 2543 และได้รับเลือกอีกครั้งในปี 2548 ซึ่งเขาได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานรัฐสภา หลังจากนั้นในช่วงปี 2549-2555 นายมาดูโรได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศ จนได้รับการแต่งตั้งจากชาเวซให้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในเดือนต.ค.ปี 2555 และคล้อยหลังมาอีกไม่กี่เดือน นายมาดูโรได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดทางการเมืองของปธน.ชาเวซ ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อันเป็นผลจากการป่วยด้วยโรคมะเร็ง นับแต่นั้นมา นายมาดูโรจึงทำหน้าที่ผู้นำรัฐบาล ในขณะที่ปธน.ชาเวซเข้ารับการรักษาตัวในคิวบา

เอนริเก้ คาปริเลส ราดอนสกี

นายคาปริเลส เกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2515 ที่กรุงคาราคัส เป็นบุตรชายของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เขาจบการศึกษาด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยในเวเนซูเอลาและได้เดินทางไปศึกษาเพิ่มเติมด้านกฎหมายในหลายประเทศ นายคาปริเลสได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธ.ค.2541 โดยนับเป็นสมาชิกรัฐสภาที่มีอายุน้อยที่สุด เขาทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาจนกระทั่งมีการยุบสภาในเดือนส.ค.2542 และนายคาปริเลสได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรในช่วงปี 2542-2543 หลังจากนั้น เขาได้ทำหน้าที่ผู้ว่าการรัฐมิรันดาที่มีประชากรหนาแน่นในช่วงปี 2551-2555 โดยได้ก้าวลงจากตำแหน่งในเดือนมิ.ย.2555 เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับชาเวซ แต่ก็พ่ายแพ้ในที่สุด และในการเลือกตั้งครั้งนี้เขาก็ตัดสินใจลงสมัครชิงตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้ง

ธุรกิจพลังงาน-เส้นเลือดหลักที่ยังไร้ทิศทาง

การที่เวเนซูเอลาเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองปริมาณมากที่สุดในโลกและหนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างโอเปก จึงไม่ได้อาจปฏิเสธได้ว่า ความเคลื่อนไหวหรือสถานการณ์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการเมืองในเวเนซูเอลา ย่อมจะสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อราคาและตลาดน้ำมันโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หลังจากที่อดีตปธน.ชาเวซได้ขับไล่บริษัทน้ำมันต่างชาติออกจากประเทศ ก่อนจะยึดกิจการธุรกิจน้ำมันมาเป็นของรัฐ เพื่อจะได้นำเม็ดเงินจากการขายน้ำมัน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 90%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) นั้น มาใช้ดำเนินนโยบายประชานิยมและสวัสดิการสังคมต่างๆ ซึ่งทำให้ชาเวซมีฐานเสียงที่แข็งแกร่งในกลุ่มประชาชนระดับรากหญ้ามาอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการการปิดกั้นไม่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจน้ำมันของประเทศจะทำให้รัฐบาลได้ครอบครองรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำจากอุตสาหกรรมหลักของประเทศ แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการปิดกั้นโอกาสที่จะพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการผลิตน้ำมัน ขณะที่รัฐบาลยังคงยืนยันที่จะแสวงประโยชน์จากบ่อน้ำมันเก่าที่ใช้มานานแทนที่จะจะขุดเจาะน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ศักยภาพในการผลิตน้ำมันของเวนซูเอลาลดลงและเป็นการบั่นทอนแหล่งรายได้หลักของรัฐบาลในท้ายที่สุด จนฐานะทางการเงินของประเทศอ่อนยวบลง

เมื่อสิ้นยุคของชาเวซ นักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลกต่างก็รอดูด้วยความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายต่อการลงทุนของต่างชาติ ซึ่งแน่นอนว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจพลังงาน ประเด็นการพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมของเวนซูเอลาที่คาดหวังกันในครั้งนี้ส่วนหนึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนั่นเอง

ผลโพลล์ชี้บารมี “ชาเวซ" ยังขลัง

นักวิเคราะห์มองว่ายิ่งการเลือกตั้งมีขึ้นเร็วเท่าใด ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่นายมาดูโรจะคว้าชัยชนะ เนื่องจากบารมีของอดีตปธน.ชาเวซที่ยังคงมีอยู่หลังจากที่เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไปไม่นานจะช่วยเพิ่มโอกาสที่นายมาดูโรจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

ผลสำรวจความคิดเห็นทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมาระบุว่านายนิโคลาส มาดูโร ผู้สมัครจากพรรคยูไนเต็ด โซเชียลิสต์ พาร์ตี ออฟ เวเนซูเอลา (PSUV) นั้น เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน โดยมีคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งเกือบ 20% ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของ Hinterlaces ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำโพลล์ของเวเนซูเอลาที่มีการเปิดเผยเมื่อต้นเดือนเม.ย. คาดว่านายมาดูโรจะได้เสียงสนับสนุน 55% เทียบกับนายคาปริเลสที่ 35%

ตามกฎหมายเลือกตั้งของเวเนซูเอลากำหนดให้บริษัทจัดทำโพลล์ปฏิบัติตามข้อกำหนดว่าด้วยการห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่าไม่ควรมีการเปิดเผยผลสำรวจใดๆหลังจากวันที่ 7 เม.ย.

แนวโน้มหลังการเลือกตั้ง

การที่นายมาดูโรแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการสานต่อแนวนโยบายระบอบสังคมนิยมของชาเวซต่อไป อาจส่งผลให้ชัยชนะของนายมาดูโรที่มีความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในประเทศมากนัก ทั้งในด้านนโยบายการลงทุนของต่างชาติในกิจการพลังงาน ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ “ไม่เอา" สหรัฐ อย่างไรก็ตาม แม้นายมาดูโรจะเป็นคนสนิทที่อดีตปธน.ชาเวซไว้วางใจให้เป็นทายาทสืบต่องานทางการเมือง แต่ด้วยบุคลิกลักษณะและบารมีที่ยังไม่อาจเทียบเท่ากับอดีตผู้นำที่กล้าได้กล้าเสี่ยงอย่างชาเวซ ทั่วโลกจึงคงต้องจับตาดูว่าระบอบสังคมนิยมที่ชาเวซได้วางรากฐานไว้ในเวเนซูเอลาจะสามารถผ่านบททดสอบความแข็งแกร่งที่สำคัญไปได้หรือไม่ และนานแค่ไหนในวันที่ไม่มีผู้นำที่เป็นหลักสำคัญอย่างชาเวซ

ขณะที่กลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติน่าจะเชียร์ให้นายคาปริเลสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งมากกว่า ด้วยหวังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในประเทศที่ครอบครองทรัพยากรน้ำมันจำนวนมหาศาล เนื่องจากนายคาปริเลสระบุว่าเขาจะยึดถือแบบอย่างการบริหารประเทศตามรอยนายลูอิส อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีของบราซิล โดยจะสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมนโยบายสวัสดิการสังคมและนโยบายตลาดเสรีควบคู่กันไป แต่ความต้องการของต่างชาติคงจะไม่มีน้ำหนักอะไรมากมายเท่ากับความต้องการของชาวเวเนซูเอลาที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่าต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด จะต้องการอยู่ภายใต้ “เงา" ทายาทของชาเวซต่อไปหรือต้องการเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าในวันที่สิ้นสุดยุคของผู้นำคนสำคัญอย่างชาเวซ คงต้องรอดูผลที่จะออกมาในวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย.นี้!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ