กรมชลฯ เผยเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ มีการใช้น้ำตามแผนฯแล้ว 100%

ข่าวทั่วไป Wednesday April 10, 2013 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน ระบุถึงผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2555/2556 เฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด (10 เม.ย.56) มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,215 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 91 ของแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งหมดของลุ่มน้ำเจ้าพระยา คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำอีก 785 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของแผนฯ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ที่นำมาใช้ได้ตามแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งนั้นอยู่ในเกณฑ์ 100% แล้ว คงเหลือเพียงปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้สำหรับสนับสนุนการทำนาปีในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น ในขณะที่การทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกินกว่าแผนไปแล้วกว่า 1 ล้านไร่ จึงขอให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอ และไม่ให้เกิดปัญหาการแคลนน้ำได้ในอนาคต

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนหลัก ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 5,670 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,870 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,890 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,040 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 383 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 340 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 249 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 243 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ลงมา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2555/2556 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนำมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันจำนวน 6,800 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อีกจำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร และผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 5 เม.ย.56) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเป็นพื้นที่มากกว่า 10.95 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผนที่ได้กำหนดไว้ (แผนกำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 10.57 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 115 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 9.17 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.38 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของแผน (แผนกำหนดไว้ 0.43 ล้านไร่)

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด(10 เม.ย.56) มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 38,053 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด ปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2555 จำนวน 4,693 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ เหลืออยู่ประมาณ 14,554 ล้านลูกบาศก์เมตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ