ศูนย์วิจัยทองคำมองโอกาสราคาในประเทศปีนี้ร่วงแตะ 15,000 หากบาทแข็งค่าหนัก

ข่าวทั่วไป Thursday April 18, 2013 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำปีนี้คาดว่าจะติดลบ 7-10% เทียบกับปี 55 ที่เป็นบวก 7%

พร้อมให้กรอบราคาทองคำในปีนี้ที่ 1,250-1,550 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และหากค่าเงินบาทไม่หลุด 28.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็คาดว่าราคาทองในประเทศจะอยู่ในกรอบ 17,500-21,000 บาท แต่หากเงินบาทแข็งค่าไปที่ 28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก็มีโอกาสที่จะได้เห็นราคาทองในประเทศลดลงไปอยู่ที่บาทละ 15,000-16,500 บาท

ทั้งนี้ ในภาวะราคาทองคำอยู่ในช่วงขาลง สมาคมมีความเป็นห่วงนักลงทุนรายย่อยที่เข้าซื้อทองคำเพื่อการลงทุนในสัดส่วนถึง 50% ของพอร์ตการลงทุน เทียบกับในปี 50 ที่อยู่ในระดับเพียง 20% และส่วนใหญ่นักลงทุนไทยมักมีมุมมองเชิงบวกในช่วงที่ราคาปรับลงแรงเป็นจังหวะเข้าซื้อ แต่ความเป็นจริงแนวโน้มราคาขณะนี้เปลี่ยนเป็นขาลงหลังราคาหลุดแนวรับที่ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และการปรับลงรอบนี้อาจพักฐานนานถึง 1-2 ปี หากไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาเพิ่มเติม อาทิ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก และการสลายตัวของกลุ่มสหภาพยุโรป ตลอดจนภาวะเงินเฟ้อสูง

นอกจากนี้ ยังน่าเป็นห่วงกลุ่มโรงรับจำนำที่ขณะนี้คาดว่าจะมีผลขาดทุนพอสมควร เนื่องจากพบว่า 80% ของสินทรัพย์ที่รับจำนำเป็นทองรูปพรรณ ซึ่งโรงรับจำนำส่วนใหญ่มีต้นทุนรับจำนำทองอยู่ที่บาทละ 23,000 บาท โดยตามกฎหมายจะมีระยะเวลาไถ่ถอนทรัพย์จำนำ 5 เดือน ขณะที่ผู้ประกอบการร้านทองส่วนใหญ่ที่มีการป้องกันความเสี่ยงไว้ รวมถึงเมื่อรับซื้อทองคำจากลูกค้าก็มีการขายออกไปยังตลาดต่างประเทศทันที โดยไม่เก็บสต็อกไว้ แต่โรงรับจำนำน้อยรายที่มีการป้องกันความเสี่ยง

"เชื่อว่าจากสถานการณ์ราคาทองปรับลดลงแรงในรอบนี้ มีนักลงทุนเกินครึ่งหนึ่งของตลาดที่เสียหายจากการขาดทุนในตลาดโกลด์ฟิวเจอร์จากการถูกมาตรการบังคับขายของตลาดในครั้งนี้ และอาจมีผลให้เกิดมาตรการแก้ไขกฎระเบียบบางส่วนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาซื้อขายสัญญาซื้อขายทองล่วงหน้า หรือโกลด์ฟิวเจอร์ส ที่ปัจจุบันปิดการซื้อขายเวลา 22.30 น. แต่ส่วนใหญ่พบว่าราคาทองคำในตลาดโลกมักจะผันผวนในช่วงหลังปิดการซื้อขายดังกล่าวไปแล้ว รวมถึงช่วงวันหยุดยาวด้วย"นายกมลธัญ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ