ก.เกษตรฯ เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำพร้อมพัฒนาระบบพยากรณ์และเตือนภัย 10 ลุ่มน้ำสำคัญ

ข่าวทั่วไป Friday May 17, 2013 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำในอนาคต ระยะเวลา 3-5 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำใน 2 เรื่อง ได้แก่ แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย จัดทำแผนการบริหารจัดการเขื่อนเก็บน้ำหลักและการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศ เป้าหมายเพื่อปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศและระบบการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนสำคัญให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี โดยได้ดำเนินการปรับปรุงเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ เขื่อนขนาดใหญ่แล้วจำนวน 10 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนทับเสลา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนกระเสียว ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับน้ำในช่วงต้นฤดูฝนได้เพิ่มขึ้น 3,440 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมกราคม 2555

นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนงานพัฒนาคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัย โดยกรมชลประทานได้ดำเนินการปรับปรุงระบบพยากรณ์ที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำมากขึ้น โดยการเชื่อมโยงและรวมระบบคลังข้อมูล ระบบพยากรณ์และเตือนภัยของ 10 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง เจ้าพระยา ท่าจีน ป่าสัก แม่กลอง และปราจีน บางปะกง ให้เป็นหนึ่งเดียว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 พร้อมกันนี้ ยังได้ดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย ปี 2554 ตามแผนฟื้นฟูและปรับปรุงประสิทธิภาพสิ่งก่อสร้างเดิมหรือตามแผนที่วางไว้แล้ว ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา

นายชวลิต กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดพื้นที่รับน้ำนองและมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พื้นที่เพื่อการรับน้ำ ซึ่งได้กำหนดพื้นที่รับน้ำนองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด 2.14 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 5,112 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น พื้นที่ในเขตชลประทาน 1.26 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 2,993 ล้านลูกบาศก์เมตรและพื้นที่แก้มลิงตามธรรมชาติ 0.88 ล้านไร่ สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ 2,119 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถลดยอดน้ำหลากในช่วงน้ำท่วมได้และยังนำน้ำส่วนหนึ่งมาใช้ในการเพาะปลูกในฤดูแล้งต่อไป

สำหรับในระยะยาว กรมชลประทานได้จัดทำแผนพัฒนาการชลประทานระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานตามศักยภาพ จำนวน 60 ล้านไร่ จัดทำแผนการพัฒนาการชลประทานเป็นรายโครงการ ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ โดยกรมชลประทาน ได้ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาและบริหารจัดการน้ำในเชิงรุกให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมทันต่อการแก้ไขปัญหาน้ำส่วนใหญ่ของประเทศมากขึ้น

“เมื่อดำเนินการตามแผนพัฒนาชลประทานของประเทศอย่างเต็มศักยภาพ จำนวน 8,789 โครงการ จะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 26,603 ล้านลูกบาศก์เมตร จะมีปริมาณน้ำใช้ที่สามารถควบคุมได้เพิ่มอีกประมาณ 57,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้พื้นที่ชลประทานทั้งสิ้นประมาณ 34.04 ล้านไร่ เมื่อรวมกับการพัฒนาที่มีในปัจจุบัน จะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งเก็บกักน้ำเท่ากับ 102,973 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณร้อยละ 52 ของปริมาณน้ำท่าของประเทศมีพื้นที่ชลประทาน 62.4 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพการชลประทานทั้งหมด นอกจากนี้ ยังจะสามารถพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนที่อยู่นอกพื้นที่ศักยภาพการชลประทานได้อีก 2.4 ล้านไร่ ด้วยโครงการที่มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โครงการสูบน้ำ โครงการ ผันน้ำ เป็นต้น" นายชวลิต กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ