ศอ.บต.นำคณะมุสลิม กทม.-ปริมณฑลลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวทั่วไป Sunday May 26, 2013 11:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยนายวิทยา พานิชพงศ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ,นายอุดร น้อยทับทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ,ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ให้การต้อนรับคณะมุสลิมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 150 ที่เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการดังกล่าว ทาง ศอ.บต.ได้นำชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เดินทางมาทัศนศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเยี่ยมสถานที่สำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกันนี้ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ “ย้อนรอยอารยธรรมอิสลามส่วนกลางกับอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งมีตัวแทนนักวิชาการ ผู้นำศาสนา และประชาชนจากทั้ง 2 พื้นที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของชาวมุสลิมซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้คณะมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชม ศอ.บต.พร้อมรับฟังบรรยายสรุปภารกิจหน้าที่ของ ศอ.บต.ในการพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางด้านการอำนวยความเป็นธรรม ด้านการศึกษาศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม การให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ไดรับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ด้านการต่างประเทศ ด้านสังคมจิตวิทยา ด้านการส่งเสริมกิจการฮัจย์ ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการอบรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่มุสลิมในพื้นที่อื่นๆ ได้รับทราบ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อให้ชาวไทยมุสลิมที่อาศัยอยุ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล ตลอดจนศาสนาอื่น ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียม และประเพณีของชาวชายแดนภาคใต้อย่างแท้จริง ส่งผลให้ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ และได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รื้อฟื้นความสัมพันธ์ เพื่อให้ทราบถึงวิถีชีวิตในปัจจุบัน และร่วมกันหาทางออกต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต

"รัฐบาลให้ความสำคัญในการเร่งรัดการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งเสริมสนับสนุนให้คนในพื้นที่ร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งประชาชนชาวมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับมุสลิมในเขตกรุงเทพมหานครมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นมาช้านาน สิ่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมาอย่างยาวนาน คือ ภาษามลายูที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ ควรที่จะได้รับการส่งเสริม อีกทั้งยังมีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก การทำสวนยางพารา การประมง การเกษตร และมีด่านชายแดนเศรษฐกิจการค้าขายที่เป็นพหุวัฒนธรรมเพื่อเปิดประตูสู่อาเซียนอันใกล้นี้ การสร้างความสงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจะต้องอาศัยความปรองดอง การหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน ลดความขัดแย้ง ความหวาดระแวงให้ทุกศาสนิกชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ พร้อมส่งเสริมยกระดับการศึกษา ส่งเสริมการสร้างงาน การมีอาชีพ และให้ความเป็นธรรมนำพาสันติภาพกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"พ.ต.อ.ทวี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ