กรมชลฯ จัดทำแผนป้องกัน-รับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปี 56

ข่าวทั่วไป Friday June 7, 2013 10:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี 2556 โดยแยกเป็นแผนงานก่อนน้ำมา และแผนงานระหว่างน้ำมาหรือขณะเกิดภัย ดังนี้

แผนงานก่อนน้ำมา ประกอบไปด้วย แผนงานที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง คือ

1. การคาดการณ์และการติดตามสภาวะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

2. การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ กรมชลประทาน จะประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการบริหารจัดการน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกัน โดยจะกำหนดเกณฑ์การเก็บกักน้ำและการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสภาวะฝนและเกณฑ์การเก็บกักน้ำของแต่ละอ่างฯ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบจากสภาพน้ำหลากล้นอ่างฯ อย่างรุนแรงและเกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน พร้อมกับการเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุดในช่วงปลายฤดูฝน เพื่อเป็นต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้ง

3. การใช้ระบบโทรมาตร เพื่อการพยากรณ์และเตือนภัยน้ำท่วม เป็นเครื่องมือในการติดตามสถานการณ์น้ำในแบบเวลาจริง และนำมาเป็นข้อมูลในการคาดการณ์ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำ สำหรับแจ้งเตือนภัยได้ล่วงหน้า

4. การวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ น้ำฝน น้ำในอ่างเก็บน้ำ น้ำท่าและน้ำท่วม โดยคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ซึ่งประกอบไปด้วย กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ(กทม.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เป็นต้น เพื่อน้ำข้อมูลมาเชื่อมโยงในการติดตามสภาพภูมิอากาศ น้ำฝน น้ำท่า สำหรับใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯทุกสัปดาห์ พร้อมกันนี้ ได้มีการสรุปข้อมูลสถานการณ์น้ำ เพื่อนำเสนอให้กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ.) ทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

ส่วนแผนงานที่ใช้สิ่งก่อสร้าง ได้แก่ การขุดลอกและกำจัดวัชพืชในคลองชลประทานและในอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรับน้ำและการระบายน้ำ อาทิ งานขุดลอกคลอง/อ่างเก็บน้ำ 52 แห่ง งานกำจัดวัชพืชบริเวณคลอง คิดเป็นพื้นที่ 31,489 ไร่ งานซ่อมแซมและบำรุงรักษาอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

ด้านแผนงานระหว่างน้ำมาหรือขณะเกิดภัย เป็นแผนงานเพิ่มเติมจากแผนก่อนน้ำมา ตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ประกอบไปด้วย การส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อลดปริมาณน้ำสูงสุด การปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมด้านท้ายเขื่อน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้วางมาตรการเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และกำลังเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมไปถึงเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำที่พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลาด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ