สธ.คาดปีนี้มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงสุดในรอบทศวรรษ,ดับแล้ว 62 ราย

ข่าวทั่วไป Wednesday June 26, 2013 18:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข(สธ.) เผยเป็นห่วงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปีนี้ หลังพบยอดผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว โดยได้สั่งการให้อธิบดีกรมควบคุมโรคติดตามดูแลทั้งเรื่องมาตรการป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และการรักษาผู้ป่วยเพื่อลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
"สถานการณ์โรคมือเท้าปากในปีนี้ถือได้ว่ายังไม่รุนแรง ต่างจากไข้เลือดออกในปีนี้ที่พบสูงมากกว่าปีที่ผ่านมา 3 เท่าตัว ปัญหามีความรุนแรงมากกว่าเดิม" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ปัญหาสำคัญของโรคไข้เลือดออกที่พบขณะนี้คือผู้ป่วยมาพบแพทย์ช้าเกินไป ต้องใช้ระบบส่งต่อเพราะเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลชุมชนในการดูผู้ป่วยที่อยู่ในระยะวิกฤติคือช็อคแล้ว โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อคเข้ามาเรื่อยๆ จะรับไม่ทัน จึงได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมเตียงรับผู้ป่วยไข้เลือดออกให้จัดลำดับความสำคัญต้นๆ และมีมิสเตอร์ไข้เลือดออกดูแลรับผิดชอบ

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับโรคนี้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานของวอร์รูมไข้เลือดออกในทุกจังหวัดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับสถานการณ์โดยรวมขณะนี้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตยังมากกว่าปีที่แล้ว แต่คิดว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมได้

ล่าสุดสำนักระบาดวิทยารายงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-25 มิถุนายน 2556 พบผู้ป่วยสะสม 54,042 คน เสียชีวิต 62 คน และคาดว่าปีนี้จะมีผู้ป่วยสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ก็มีผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งไม่เคยมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเข้าสู่หน้าฝน มีฝนตกชุกทำให้ยุงลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจึงมากขึ้นตามไปด้วย

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้ทุกจังหวัดตั้งผู้รับผิดชอบหลักโรคไข้เลือดออกในแต่ละระดับให้ชัดเจนรวม 5 คน ได้แก่ 1.ระดับจังหวัดให้รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน(ผชช.ว.) ผู้รับผิดชอบหลักเป็นมิสเตอร์ไข้เลือดออกของจังหวัด 2.โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีแพทย์หัวหน้าทีม เพื่อเป็นทีมพี่เลี้ยงดูแล ให้คำปรึกษา และพัฒนาความรู้ด้านระบบการรักษาพยาบาลแก่แพทย์พยาบาลในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) 3.โรงพยาบาลชุมชน ให้มีแพทย์หรือพยาบาลอาวุโส เป็นผู้จัดการเรื่องไข้เลือดออก 4.ระดับอำเภอมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วหรือเอสอาร์อาร์ที มีหัวหน้าทีมเป็นสาธารณสุขอำเภอหรือผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ลงควบคุมป้องกันโรคในพื้นที่ครอบคลุมทุกตำบล เน้นการดูแลสภาพแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ และ5.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคของกรมควบคุมโรค ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเป็นทีมสนับสนุนจังหวัดละ 1 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะประชุมทางไกลกับทุกจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานของวอร์รูมทุกจังหวัดอย่างใกล้ชิดทุก 2 สัปดาห์


แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ