"จาตุรนต์"เร่งปฏิรูปการเรียนการสอนยุคอินเตอร์เนตให้สอดคล้องการปฏิรูปหลักสูตร

ข่าวทั่วไป Thursday July 4, 2013 10:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังความคิดเห็นและการรายงานผลการดำเนินงานของ 5 องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ เพื่อรับทราบสถานะ ความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งค้นหาเรื่องสำคัญๆ ทางยุทธศาสตร์ที่ต้องกำหนดร่วมกันเพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายต่อไป เพื่อประสานเชื่อมโยงการทำงานของทั้ง 5 องค์กรหลัก และผลักดันนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ เช่น การปฏิรูปการเรียนรู้ การเรียนการสอน ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับการปฏิรูปหลักสูตร ซึ่งในปัจจุบันมีวิชาการและรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการเรียนการสอนในยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งเด็กมีช่องทางที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายและกว้างขวางมากขึ้น เช่น การทำการบ้าน ควรจะต้องส่งเสริมให้เด็กค้นหาจากอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งเน้นให้เด็กคิดเป็น อธิบายได้ ตอบคำถามได้ ตั้งคำถามเป็น สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ค้นหากับเรื่องอื่นๆ ได้ มากกว่าที่จะใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาความหมายของคำ ฯลฯ

นอกจากนี้นโยบายของรัฐบาลในการจัดการเรียนการสอนด้วยแท็บเล็ตนั้น สิ่งสำคัญคือ"เนื้อหาสาระ"ที่บรรจุลงในแท็บเล็ตจะต้องมีมาตรฐานและมีคุณภาพที่จะเชื่อถือได้ว่าการเรียนด้วยแท็บเล็ตและเนื้อหาที่บรรจุในแท็บเล็ตจะทำให้เด็กเรียนรู้ได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อีกทั้งการพัฒนาครู จะต้องพัฒนาให้ครูสามารถสอนในหลักสูตรเดิมและมีการฝึกอบรมพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสอนในรูปแบบใหม่ได้ เช่น การเรียนการสอนในยุคอินเทอร์เน็ต การสอนภาษา ฯลฯ ส่วนการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา จะต้องได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพและสามารถดำเนินการพัฒนาครูอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ส่วนด้านบุคลากรก็ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา รวมทั้งมีการเชื่อมโยงการพิจารณาวิทยฐานะของครูที่จะต้องส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนให้มากขึ้น

การทดสอบและการประเมินผลทางการศึกษา โดยเฉพาะการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเชิงคุณภาพจะต้องอ้างอิงกับการจัดอันดับขององค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งมีการพัฒนาระบบการประเมินผลภายในของ ศธ. เองให้มีมาตรฐานและสามารถใช้งานได้มากขึ้น เพราะช่วงระยะเวลาก่อน 10 ปีที่ผ่านมานี้ ศธ.ไม่มีการทดสอบนักเรียนโดยระบบกลาง แต่เรียนโดยใช้เกรด ทำให้ไม่รู้ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เมื่อนำเด็กไทยไปเทียบกับเด็กประเทศอื่นๆ ผลสัมฤทธิ์จึงตกลงไปเรื่อยๆ

แต่ในระยะหลัง 10 ปีที่ผ่านมาได้มีระบบการทดสอบ O-Net และ A-Net โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) ดังนั้นต้องนำมาหารือเรื่องมาตรฐานและความเชื่อมโยงกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้ครูหรือผู้เกี่ยวข้องออกข้อสอบได้ตรงตามเนื้อหาหลักสูตร มิใช่ออกข้อสอบไม่ตรงกับหลักสูตร ทำให้ผลคะแนนที่ออกมาสูงและต่ำแบบผิดปกติ ซึ่งวัดผลได้ยาก

ส่วนการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) นั้น สร้างขึ้นโดยยังไม่มีการเชื่อมโยงกับจุดอื่นๆ มากนัก จึงต้องช่วยกันพิจารณาว่าจะสร้างความเชื่อมโยงเหล่านี้อย่างไรเพื่อทำให้การศึกษาดีขึ้น

"จะดำเนินการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน โดยจะเน้นและเร่งดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ การเรียนการสอน ควบคู่ไปกับการจัดทำระบบทดสอบให้มีความชัดเจนและได้มาตรฐานเพื่อเชื่อมโยงไปยังหลักสูตร รวมทั้งการประเมินผลแต่ละระดับก็จะสอดคล้องกับเป้าหมายของการปฏิรูปหลักสูตร ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา"รมว.ศึกษาฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ