กรมชลฯ เผยปริมาณน้ำปีนี้น้อยกว่าปีก่อน 4% เล็งบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องสภาวะฝน

ข่าวทั่วไป Thursday August 1, 2013 15:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 56 ว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง (ณ 31 ก.ค.) มีจำนวน 35,005 ล้าน ลูกบาศก์เมตร หรือ 50% ของความจุที่ระดับเก็บกัก สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 11,506 ล้านลูกบากศ์เมตร หรือ 16% ของความจุที่ระดับเก็บกัก นอกจากนี้ ยังมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 448 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 2,174 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50% ของความจุที่ระดับเก็บกัก สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 1,874 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 43% ของความจุที่ระดับเก็บกัก หากเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำในอ่างฯปีนี้จะน้อยกว่า 4% และปริมาณน้ำที่ใช้การได้ก็น้อยกว่า 4% เช่นกัน

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปีนี้จะมีรูปแบบคล้ายกับสถานการณ์ในปี 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำตะคอง และเขื่อนมูลบน

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายว่า ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยปี 2556 คาดว่าปริมาณฝนสะสมโดยเฉลี่ยส่วนมากจะใกล้เคียงกับค่าปกติ โดยในช่วงต้นฤดูจะมีฝนตกเป็นระยะๆ จากนั้นประมาณปลายเดือนมิถุนายน ถึงกลางเดือนกรกฎาคมฝนจะลดน้อยลง เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง และปริมาณฝนจะกลับมาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ทั้งนี้ คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม และคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยประมาณ 2 ลูก โดย 1 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน และอีก 1 ลูกในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเน้นการใช้น้ำจากน้ำฝนในแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก และจะงดรับน้ำเข้าคลองระบายและพื้นที่นอกเขตชลประทาน พร้อมไปกับควบคุมการระบายน้ำจากเขื่อนตามความจำเป็น โดยจะเน้นการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีฝนทิ้งช่วงและต้นฤดูแล้งหน้าที่จะถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

พร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำฝน น้ำท่าอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับประชาสัมพันธ์ชี้แจงสถานการณ์น้ำให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ให้มีความพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

อนึ่ง หากสถานการณ์น้ำในปีนี้เหมือนกับในปี 2553 ที่ผ่านมา ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อย แต่พื้นที่ด้านท้ายอ่างฯมีปริมาณน้ำมาก ก็ต้องเก็บกักน้ำไว้ในอ่างฯให้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูก และเพื่อใช้ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงด้วย จากการติดตามสภาพฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีฝนตกบริเวณด้านท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีน้ำท่าเพิ่มมากพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ได้ กรมชลประทานจึงร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปรับแผนการระบายน้ำในช่วงวันที่ 29 ก.ค.-4 ส.ค. 56 โดยเขื่อนภูมิพล จากเดิมระบายวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงเป็นวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ ระบายวันละ 8 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่าเดิม

สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยปกติจะเริ่มเพาะปลูกในช่วงปลายเดือนมิถุนายนต่อเดือนกรกฎาคม และเพาะปลูกเสร็จสิ้นประมาณเดือนสิงหาคม แต่ปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้ทำการเพาะปลูกไปแล้วโดยอาศัยน้ำฝน ซึ่งแผนการเพาะปลูกพืชในเขตชลประทานของอ่างเก็บน้ำต่างๆ จะตกลงกัน โดยใช้คณะกรรมการจัดการน้ำชลประทานแต่ละแห่ง ที่มีข้อตกลงว่า จะเริ่มส่งน้ำเมื่อมีฝนตกชุก และอ่างเก็บน้ำมีปริมาณน้ำใช้การได้ในเกณฑ์ประมาณ 30-40 % ของความจุอ่างฯ

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการคาดการณ์ฤดูแล้งปี 2556/2557 จากการจำลองสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 33 แห่ง ในกรณีทั้ง 3 กรณี คือ กรณีน้ำน้อย กรณีน้ำเฉลี่ย และกรณีน้ำมาก ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 คาดว่าเขื่อนต่างๆจะมีปริมาณน้ำ ดังนี้ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำร้อยละ 44 , 54 และ 64 ตามลำดับ เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 50 , 62 และ 75 ตามลำดับ เขื่อนแควน้อย มีปริมาณน้ำร้อยละ 54 , 101 และ103 ตามลำดับ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 62 , 81 และ 122 ตามลำดับ เขื่อนห้วยหลวง มีปริมาณน้ำร้อยละ 59 , 100 และ 100 ตามลำดับ เป็นต้น

ผลการจำลองสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาณน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 เมื่อหักปริมาณน้ำที่ต้องใช้เพื่อการอุปโภค-ปริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ ตลอดจนปริมาณน้ำที่ต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2557 แล้ว นำมาคำนวณเพื่อคาดการณ์การปลูกพืชฤดูแล้งปี 2556/2557 ในเขตพื้นที่ชลประทาน ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายใต้สภาวะเงื่อนไขปัจจุบันสรุปได้ ดังนี้

กรณีปีน้ำน้อย ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 120,000 ไร่ และงดการปลูกข้าวในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง เขื่อนอุบลรัตน์เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน-ลำแซะ และเขื่อนลำนางรอง แต่ปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย

กรณีปีเฉลี่ย ในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 4 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 715,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย

ส่วนในกรณีปีน้ำมาก ในลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 6.5 ล้านไร่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 880,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อย

"จากการคาดหมายสภาพฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย จึงคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 4 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกข้าวนาปรังได้ประมาณ 715,000 ไร่ ยกเว้นอ่างเก็บน้ำลำตะคองที่ปลูกได้เฉพาะพืชใช้น้ำน้อยทุกกรณี แต่ถ้าหากมีพายุจรพัดเข้ามามีอิทธิพลเกิดฝนตกในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ก็จะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปีหน้า จะเพิ่มขึ้นมากขึ้นด้วย จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมกับนำมาทบทวนการพยากรณ์ในทุกๆเดือน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกลงมา" อธิบดีกรมชลประทาน ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ