กรมป้องกันฯ เฝ้าระวังพื้นที่จุดเสี่ยง-เตรียมรับมือฝนตกหนัก 20- 21 ก.ย.

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2013 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุดีเปรสชั่นได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำและเคลื่อนตัวผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้บริเวณจังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร นครราชสีมา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี สระบุรี สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา รวมถึงกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีฝนตกทั่วไป โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

โดยขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 17 อำเภอ 54 ตำบล ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบภัย ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการความร่วมมือเตรียมพร้อมรับมือภาวะฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นในช่วงวันที่ 20 — 21 กันยายน 2556

ทั้งนี้ ได้ประสานทุกภาคส่วนเตรียมพร้อมรับมือวางแผนการป้องกันภัยและปฏิบัติการเชิงรุกให้ครอบคลุมทุกมิติ จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสภาพอากาศ ติดตามสถานการณ์น้ำและสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง ระดมสรรพกำลังจัดเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็ว วัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น ที่ลุ่มริมน้ำ ที่ลาดเชิงเขา พื้นที่จุดอ่อนเกิดน้ำท่วมขังบ่อยครั้ง เป็นต้น ได้กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมถึงสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 15 คัน เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญของจังหวัด ตลอดจนเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน และดูแลความปลอดภัยของประชาชนอย่างใกล้ชิด เน้นให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ในเบื้องต้น ควบคู่กับการฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว

นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อนวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยงและจุดอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง จัดทำแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำ และจัดเตรียมพื้นที่รองรับน้ำ โดยให้น้ำไหลลงคลอง และระบายสู่พื้นที่รองรับน้ำที่จัดเตรียมไว้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชนและการรายงานข้อมูลเป็นพิเศษ โดยให้รายงานสถานการณ์ภัย และการให้ความช่วยเหลือเป็นประจำทุกวันแบ่งเป็น 3 ช่วง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาการสั่งการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยโดยด่วนต่อไป

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า ปภ.ในฐานะหน่วยงานกลางด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ ได้เชื่อมโยงกลไกการบริหารจัดการอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยนำข้อสั่งการและนโยบายการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในระดับพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบและความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์อุทกภัย และให้ผู้ประสบภัยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ ปภ.ได้บูรณาการเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักอย่างเต็มกำลัง ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ปภ.ดูแลชีวิตความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชน และควบคุมสถานการณ์ภัยมิให้รุนแรงขยายวงกว้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ