โพลเผยคนค้านห้ามรถเก่า 7-10 ปีวิ่งในกทม. เชื่อรถคันแรกต้นเหตุทำรถติด

ข่าวทั่วไป Thursday October 17, 2013 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "กฎจราจรกับปัญหารถติด" พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.48 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยแนวคิดการห้ามไม่ให้รถยนต์ที่มีอายุการใช้งาน มากกว่า 7-10 ปี เข้ามาวิ่งในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเห็นว่าทุกคนเสียภาษีรถยนต์เหมือนกัน ควรมีสิทธิใช้รถวิ่งบนท้องถนนเหมือนกัน, สร้างความลำบากแก่ผู้ที่จะเดินทางเข้ามาติดต่อธุระจำเป็นใน กทม., เป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด อีกทั้งยังผ่อนรถยนต์เสร็จได้ไม่นาน และควรจำกัดรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15—20 ปี ขึ้นไป ขณะที่ร้อยละ 15.28 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการลดจำนวนรถยนต์ที่เข้ามาวิ่งใน กทม.ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และช่วยลดมลพิษในอากาศ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และร้อยละ 4.24 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนวิธีการลงโทษผู้กระทำผิดกฏจราจรจากการล็อคล้อ เป็นการเคลื่อนย้ายรถออกจากผิวจราจรในกรณีที่จอดรถยนต์ในที่ห้ามจอด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.44 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้ไม่กีดขวางการจราจร ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และเป็นมาตรการที่น่าจะช่วยลดการทำผิดกฎจราจรให้น้อยลง

ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะทำให้ยุ่งยากและเสียเวลาในการตามรถคืน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และรถยนต์อาจเกิดความเสียหายขณะเคลื่อนย้าย และอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่ารถยนต์ถูกโจรกรรมไป ควรหาวิธีอื่น และร้อยละ 4.40 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานครมากที่สุด 5 อันดับแรก พบว่า อันดับหนึ่งประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.56 ระบุว่าเป็นเพราะนโยบายรถยนต์คันแรก รถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้น อันดับสอง ประชาชนร้อยละ 21.68 ระบุว่า เป็นเพราะรถยนต์ส่วนบุคคลทำผิดกฎจราจร ไม่มีระเบียบวินัยในการขับขี่ อันดับสาม ประชาชนร้อยละ 13.52 ระบุว่า เป็นเพราะรถบริการสาธารณะ (รถเมล์/รถตู้/แท็กซี่/มอเตอร์ไซค์รับจ้าง) จอดไม่เป็นระเบียบ อันดับสี่ ประชาชนร้อยละ 3.92 ระบุว่า เป็นเพราะจำนวนช่องการจราจร/สะพานข้ามแยกไม่เพียงพอ และอันดับห้า ประชาชนร้อยละ 2.40 ระบุว่า เป็นเพราะระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เพียงพอ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของประชาชนที่พักและอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ การสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 ตุลาคม 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ