(เพิ่มเติม1) ศาลแพ่งไม่ถอนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯแต่ห้ามออกคำสั่งบังคับใช้กับการชุมนุมโดยสงบ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 19, 2014 18:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลแพ่งไม่ได้มีคำสั่งเพิกถอนการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะใช้กฎหมายพิเศษดูแลสถานการณ์ แต่เห็นว่าเป็นการออกกฎหมายเกินความจำเป็น จึงให้ความคุ้มครองกับผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วพิพากษาให้คุ้มครองตามคำร้องที่ผู้ชุมนุมขอมา ศาลจึงมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้ง 3 ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐนำประกาศดังกล่าวมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมใน 9 ประเด็น ประกอบด้วย

1. ห้ามสั่งใช้กำลังสลายการชุมนุม

2. ห้ามยึดและอายัดสินค้าอุปโภค-บริโภคของผู้ชุมนุม

3. ห้ามออกคำสั่งที่จะให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง

4. ห้ามออกคำสั่งเรื่องการนำสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่ชุมนุม

5. ห้ามออกคำสั่งปิดเส้นทางจราจร

6. ห้ามออกประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

7. ห้ามออกประกาศห้ามใช้เส้นทาง หรือยานพาหนะ

8. ห้ามออกคำสั่งให้บุคคลออกจากอาคาร

9. ห้ามออกคำสั่งให้บุคคลออกจากพื้นที่

ศาลระบุว่าตัว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้อำนาจพิเศษแก่รัฐบาลในการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จในระยะเวลาชั่วคราวเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ และการออกประกาศดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการลิดรอนสิทธิของการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ แต่ต้องเป็นการใช้อำนาจโดยเสมอภาคตามหลักนิติธรรม

ทั้งนี้ จากการนำสืบของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ใช่เป็นการทำให้เกิดความไม่สงบในประเทศที่นายกรัฐมนตรีจะใช้เป็นข้ออ้างออกประกาศที่เป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมโดยชอบ เป็นการมุ่งบังคับใช้กับบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิ แต่การชุมนุมของกลุ่ม กปปส.มีมูลเหตุมาจากการขาดความชอบธรรมของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ เช่น การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ ส.ว., การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับนายกรัฐมนตรีด้วย

ดังนั้น กรณีที่ผู้ชุมนุมอ้างเรื่องการขาดความชอบธรรมในการบริหารประเทศของผู้บริหารประเทศ ซึ่งไม่มีสิทธิที่รัฐบาลจะนำกฎหมายดังกล่าวมาบังคับใช้ เนื่องจากถือว่าเกินความจำเป็น หรือนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสกัดการแสดงออกทางสิทธิเสรีภาพ ประกอบกับก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นมูลเหตุสืบเนื่องจากเหตุดังกล่าว และเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงไม่มีผลจะนำมาบังคับใช้กับกลุ่มผู้ชุมนุม

อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาคดีดังกล่าว องค์คณะผู้พิพากษา 2 ใน 5 มีความเห็นแย้งขอให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปเลย เพราะถึงแม้กฎหมายจะมีเจตนารมย์ให้รัฐใช้อำนาจพิเศษในการแก้ปัญหา แต่กฎหมายมิได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในทางนำสืบฟังได้ว่า การชุมนุมไม่ได้ทำให้เกิดความไม่สงบในประเทศ แต่ยังเป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ขัดต่อมาตรา 68 การที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจึงเป็นเพียงข้ออ้างที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องประกาศใช้ การประกาศใช้ของนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงข้ออ้างที่จะกระทบสิทธิของผู้ที่ชุมนุมโดยสงบ เป็นการมุ่งบังคับใช้กับบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งถือว่าผิดหลักการของกฎหมายที่ต้องบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่ใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น จึงถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากยังให้คงไว้

ด้านนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เปิดเผยว่า คำพิพากษาของศาลแพ่งที่ออกมาวันนี้ ชี้ว่าถึงแม้รัฐบาลมีสิทธิที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ แต่ก็ไม่สามารถนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากเป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ สืบเนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการบริหารงานที่ไม่ชอบธรรม โดยจะเห็นว่าการใช้อำนาจในการปกครองจำเป็นต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงขึ้นในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่บริเวณแยกสะพานผ่านฟ้าฯ เมื่อวานนั้น(18 ก.พ.) อาจจะมีผลในทางคดีต่อไปว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด ตามมาตรา 17 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ซึ่งตนได้แจ้งต่อศาลไปแล้วว่า กรณีนี้ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจากที่ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งไว้ก่อนหน้านี้

ส่วนกรณีการออกหมายจับจากความผิดที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น เป็นหน้าที่ของทีมทนายอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าเมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้ ทีมทนายก็น่าจะนำไปใช้เป็นเหตุผลในการคัดค้านการขอออกหมายจับได้

อนึ่ง คดีนี้นายถาวร เสนเนียม เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความสงบ(ศรส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ในฐานะรอง ผอ.ศรส. เป็นจำเลยที่ 1-3 เรื่องละเมิดจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมิชอบและยังไม่มีเหตุจำเป็น

โดยขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมกับขอศาลสั่งให้หยุดการฝ่าฝืนคำสั่งการคุ้มครองชั่วคราวในคดีดังกล่าวเป็นการด่วน หลังเจ้าหน้าที่ขอคืนพื้นที่ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ