กรมป้องกันฯรายงานพื้นที่ภัยแล้ง 15 จ. ขอปชช.ใช้น้ำประหยัด-สำรองไว้ใช้

ข่าวทั่วไป Thursday February 27, 2014 10:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2556 – 26 กุมภาพันธ์ 2557 มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 15 จังหวัด รวม 59 อำเภอ 338 ตำบล 2,667 หมู่บ้าน แยกเป็น ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ และตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น และศรีสะเกษ ภาคกลาง 3 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี สระบุรีและชัยนาท ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปราจีนบุรี ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ ตรัง

จากการประสานข้อมูลสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า มีปริมาตรน้ำทั้งสิ้น 44,950 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 64 มีปริมาตรน้ำใช้การได้ 21,447 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 46 มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีปริมาตรน้ำ 42,569 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61 จำนวน 2,381 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตาม แหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำกักเก็บรวม 11,930 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ เป็นปริมาตรน้ำที่ใช้การได้ 5,234 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุรวมทั้ง 4 อ่างฯ ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวมีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกินกว่าแผนที่กำหนด โดยเฉพาะการทำนาปรัง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ จึงขอความร่วมมือประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัด เตรียมสำรองน้ำไว้อุปโภคบริโภค เกษตรกรควรวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและแผนการจัดสรรน้ำในพื้นที่ เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย งดเว้นการทำนาปรัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ห่วงใยผู้ประสบภัยแล้ง จึงได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยสำรวจจัดทำฐานข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ พื้นที่ประสบภัย พื้นที่เสี่ยงภัย ปริมาณน้ำต้นทุน ความต้องการใช้น้ำ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำให้ทั่วถึง ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ น้ำที่ใช้ในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงใช้ประโยชน์จากน้ำทุกแหล่งให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งน้ำฝน น้ำบนดินและน้ำใต้ดิน ตลอดจนระดมกำลังเจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รถสูบน้ำระยะไกล เป็นต้น ประจำตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ออกให้บริการแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำ และ ให้การบริหารจัดการน้ำที่มีจำกัดเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ