ท้องฟ้าจำลองชวนดู"ดาวเคราะห์สีแดง"ดาวอังคารใกล้โลกวันนี้6โมงเย็น-3ทุ่ม

ข่าวทั่วไป Monday April 14, 2014 10:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดารา ศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 14 เม.ย. จนถึงเช้าวันที่ 15 เม.ย. นี้ จะสามารถมองเห็นดาวอังคารสุกสว่างส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้ามีความสว่างมากกว่าปกติ เนื่องจากดาวอังคารและโลกเข้าใกล้กันมากที่สุดในรอบ 7 ปี ที่ระยะห่าง 92.39 ล้านกิโลเมตร ประชาชนที่สนใจสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะเห็นขั้วน้ำแข็งและลักษณะพื้นผิวดาวอังคารได้

การที่มองเห็นดาวอังคารส่องประกายสีส้มแดงบนท้องฟ้า เนื่องจากพื้นผิวของดาวอังคารมีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นเหล็กออกไซด์ จึงมักเรียกฉายาของดาวอังคารว่า "ดาวเคราะห์สีแดง" ซึ่งจะโคจรใกล้โลกทุก 2 ปี และมีคาบการโคจรเข้ามาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งทั้งดาวอังคาร โลก และดวงอาทิตย์จะเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง

ทั้งนี้ดาวอังคารจะโผล่พ้นจากขอบฟ้าคืนวันที่ 14 เม.ย. ตั้งแต่เวลา 18.02 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ในกลุ่มดาวหญิงสาว โดยอยู่ด้านซ้ายของดวงจันทร์ หากสังเกตช่วงเช้ามืดวันที่ 15 เม.ย. จะมองเห็นดาวอังคารปรากฏอยู่สูงจากขอบฟ้าทางทิศตะวันตก ครั้งล่าสุดที่โคจรใกล้โลกคือวันที่ 5 มี.ค. 55 และจะใกล้โลกที่สุดครั้งต่อไปวันที่ 31 พ.ค. 59

สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ ที่หน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (บริเวณท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) ไม่มีค่าใช้จ่าย

วันนี้ (14 เม.ย.) ที่หน้าอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (บริเวณท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) สมาคมดาราศาสตร์ไทยจะตั้งกล้องดูดาวส่องดูขั้วน้ำแข็งดาวอังคารใกล้โลก เวลา 18.00- 21.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ