สธ.เตือนผู้ปกครองดูแลลูกหลานใกล้ชิด หลังพบแนวโน้มเด็กจมน้ำตายพุ่งพรวด

ข่าวทั่วไป Saturday April 19, 2014 11:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เตือนผู้ปกครองดูแลลูกหลานใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เล่นน้ำคนเดียว หลังพบสถิติช่วงอากาศร้อนจัดในเดือนเมษายนมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุดติดต่อกัน 12 ปี เฉลี่ย 165 ราย เนื่องจากเด็กวัย 5-14 ปี ที่มีอยู่ราว 8 ล้านคน ว่ายน้ำไม่เป็นมีมากกว่า 6 ล้านคน อีกทั้งมีทักษะการเอาชีวิตรอดและรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องเพียงแค่ 3 แสนกว่าคน หรือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น

"การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากผลการสำรวจพบว่าเด็กอายุ 5-14 ปี ซึ่งมี 8 ล้านคน ที่ว่ายน้ำเป็นมีส่วนน้อยประมาณ 2 ล้านคน ที่เหลืออีกกว่า 6 ล้านคนว่ายน้ำไม่เป็น ที่น่าห่วงกว่านั้นคือ มีทักษะการเอาชีวิตรอดและรู้วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้องเพียงแค่ 3 แสนกว่าคน หรือเพียงร้อยละ 4 การเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรประมาณ 2 เท่าตัว และมากกว่าไข้เลือดออกถึง 24 เท่าตัว โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาคือภาคกลาง ใต้ และเหนือ" นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าว

เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนมาก ประชาชนนิยมเล่นน้ำคลายร้อน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงปิดเทอม จะชอบลงเล่นน้ำ ซึ่งมีข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ตั้งแต่ พ.ศ.2545-2556 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำ 49,878 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 15,495 ราย หรือร้อยละ 31 โดยเดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตจากการจมน้ำมากที่สุดติดต่อกันเป็นเวลา 12 ปี เฉลี่ย 165 รายต่อปี ล่าสุดในปี 2556 มีเด็กวัยนี้เสียชีวิตทั้งหมด 925 รายสูงสุดในเดือนเมษายน 110 ราย รองลงมาคือเดือนมีนาคม 100 ราย

ปลัด สธ.กล่าวว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานใกล้ชิดเพื่อป้องกันการจมน้ำ ไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำตามลำพัง แม้ว่าจะเป็นแหล่งน้ำใกล้บ้านหรือแหล่งน้ำที่คุ้นเคย เนื่องจากพบว่าแหล่งน้ำที่มีผู้จมน้ำเสียชีวิตสูงสุดในกลุ่มเด็ก คือแหล่งน้ำธรรมชาติ คลองชลประทาน และอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งให้ความรู้ในการปฐมพยาบาลผู้จมน้ำที่ถูกต้อง และหากเป็นไปได้ขอความร่วมมือชุมชนทุกแห่ง ให้สำรวจแหล่งน้ำที่เสี่ยงต่อการจมน้ำในพื้นที่ เพื่อจัดการดูแลให้เกิดความปลอดภัยกับเด็ก หากประชาชนพบเห็นอุบัติเหตุคนจมน้ำ สามารถโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางหมายเลข 1669 ทันที

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สาเหตุการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กช่วงปิดเทอม ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่าร้อยละ 74 ของเด็กที่ตกน้ำจะเสียชีวิต โดยเด็กที่จมน้ำเสียชีวิตเป็นเด็กที่ว่ายน้ำเป็นถึงร้อยละ 26 ดังนั้นในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้กรมควบคุมโรคได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี สนับสนุนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้มีการเป็นภาคีความร่วมมือในการฝึกอบรมครู เพื่อให้เข้าใจทักษะความปลอดภัยพัฒนาทักษะความปลอดภัยทางน้ำให้แก่ครูในพื้นที่กว่า 20 จังหวัด

สำหรับการช่วยชีวิตผู้จมน้ำ ต้องช่วยให้หายใจให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันสมองขาดออกซิเจน แต่คนส่วนใหญ่ยังจำภาพผิดๆ ว่าให้อุ้มเด็กพาดบ่าให้ศีรษะต่ำแล้วเขย่าตัว เพื่อให้น้ำไหลออกจากปอด ซึ่งเป็นวิธีช่วยเหลือที่ผิด จะทำให้ขาดอากาศหายใจนานขึ้น เสียเวลาที่มีค่าในการช่วยชีวิตเด็ก วิธีที่ถูกต้องคือ ช่วยให้เด็กที่จมน้ำหายใจให้เร็วที่สุด โดยให้นอนบนพื้นราบแห้งและแข็ง หากไม่รู้สึกตัวให้เป่าปากช่วยการหายใจและนวดหัวใจ เมื่อรู้สึกตัวหรือหายใจเองได้แล้ว ให้จับนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยให้ความอบอุ่น งดน้ำและอาหาร และรีบส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเล่นน้ำอย่างปลอดภัย หากว่ายน้ำไม่เป็นขอให้สวมเสื้อชูชีพหรือใช้อุปกรณ์พยุงตัวตลอดเวลา ไม่ดื่มสุรา ไม่เล่นน้ำคนเดียว เล่นน้ำในตอนกลางคืนหรือขณะมีฝนตก และไม่กระโดดลงน้ำที่ไม่ทราบสภาพใต้น้ำ ที่สำคัญอย่าปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ จะต้องอยู่ในสายตาผู้ปกครอง และไม่ปล่อยให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อ ขอบสระ หรือภาชนะใส่น้ำ เพราะอาจลื่นพลัดตกลงน้ำ และไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ทั้งนี้ หากพบคนตกน้ำ ขอให้หาอุปกรณ์และคนมาช่วย ยึดหลัก “ตะโกน โยน ยื่น" โดยตะโกนเรียกให้คนมาช่วย โยนอุปกรณ์ลอยน้ำที่อยู่ใกล้ตัวให้คนที่ตกน้ำ เช่น ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ห่วงชูชีพ โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และยื่นอุปกรณ์ให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ ผ้าขาวม้า เสื้อ เพื่อดึงตัวขึ้นจากน้ำ ห้ามกระโดดลงไปช่วยอย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะถูกกอดรัดและจมน้ำเสียชีวิตพร้อมกันได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ